BRR ปลื้ม Wood Pellet ในลาวรับมาตรฐานโลกหวังกวาดรายได้ปีละกว่า 17 ล้านเหรียญ เร่งขอสัมปทานเพิ่ม

โครงการเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood pellet) ภายใต้การนำของ บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ล่าสุดได้รับรองมาตรฐาน FSC การันตีผลิตภัณฑ์จากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่บริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยทยอยเร่งปลูกป่าพื้นที่ 40,000 ไร่ เป็นวัตถุดิบ พร้อมดันโอกาสเติบโตในธุรกิจคาร์บอนเครดิตฯ วางเป้าสร้างรายได้อีก 2 ปีข้างหน้า ด้านโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลแห่งแรกในสปป.ลาว มียอดจองซื้อเต็มกำลังการผลิตระยะยาว 15 ปี รวมมูลค่าซื้อขาย 17 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คาดรับรู้รายได้ ไตรมาส 3/66 พร้อมเตรียมขออนุญาตพื้นที่สัมปทานลาวเพิ่มเติม และเดินหน้าขยายเฟสถัดไป

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BRR เปิดเผยถึงการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) ในสปป.ลาว ที่ได้ร่วมกับพันธมิตรในนามบริษัท สีพันดอน-ราชลาว จำกัด โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี ซึ่งมีสัญญาจองซื้อระยะยาว 15 ปีจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นที่ราคาเฉลี่ย 170 เหรียญสหรัฐต่อตัน คิดเป็นรายได้มูลค่า 17 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี คาดการณ์เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/66

ด้วยความต้องการพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศญี่ปุ่น โดยในปี 62 มีปริมาณการนำเข้า Wood Pellet ในประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 1.61 ล้านตัน ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 40% ต่อปี ทำให้มีบริษัทญี่ปุ่นชั้นนำมากมายมองหาแหล่งผลิตเพื่อนำเข้าเชื้อเพลิงดังกล่าว จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กอปรกับบริษัทมีพื้นที่สัมปทานขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งปลูกไม้วัตถุดิบและความเชี่ยวชาญในการผลิต Wood Pellet บริษัทจึงเดินหน้าศึกษาโครงการเพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ในขณะเดียวกันยังได้เริ่มเจรจากับนักลงทุน และเร่งขอพื้นที่สัมปทานเพื่อปลูกป่าในสปป.ลาว เพิ่มเติม

จากศักยภาพและความเชี่ยวชาญในการจัดการพื้นที่ขนาดใหญ่ในสปป.ลาว ทำให้ BRR ได้เปรียบในการตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อรายใหญ่จากญี่ปุ่นที่มีความต้องการ Wood Pellet ในปริมาณมาก โดยล่าสุดโครงการ Wood Pellet ในพื้นที่สัมปทาน 40,000 ไร่ ยังได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับจากผู้ซื้อในตลาดระดับสากล และการันตีได้ว่าผลิตภัณฑ์ได้รับการตรวจสอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมั่นใจได้ว่ามาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการอย่างมีความรับผิดชอบ

นอกจากนั้น การปลูกไม้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิต Wood Pellet ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังสร้างรายได้ให้แก่บริษัทด้วยการขายคาร์บอนเครดิตอีกด้วย จากการปลูกไม้ในพื้นที่จะสามารถดูดซับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 6 ตันคาร์บอนฯ ต่อไร่ ซึ่งราคาซื้อขายปัจจุบันอยู่ที่ 50-100 เหรียญสหรัฐต่อตันคาร์บอนฯ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายสร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมจัดทำเอกสารเพื่อขอรับรองและขึ้นทะเบียนการขายคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งได้หารือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของสปป.ลาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top