คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณากำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคการเมืองมากที่สุดในการหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 8 ก.พ.66 โดยการคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตามค่าใช้จ่ายจริง
- กรณีครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ให้คำนวณค่าใช้จ่ายในช่วง 180 วัน ก่อนวันที่ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันเลือกตั้ง
- กรณียุบสภา หรือเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้คำนวณค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ยุบสภาหรือวันที่ตำแหน่งว่างลงจนถึงวันเลือกตั้ง
สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
– กรณีครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครฯ ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 7 ล้านบาท
– กรณียุบสภา ผู้สมัครฯ ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 1.9 ล้านบาท
ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
– กรณีครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายไม่เกิน 163 ล้านบาท
– กรณียุบสภา พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายไม่เกิน 44 ล้านบาท
หากมีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในเขตเลือกตั้งใดก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง
– กรณีต้องรับสมัครใหม่ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 9.5 แสนบาท
– กรณีไม่ต้องรับสมัครใหม่ ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 6.3 แสนบาท
หาก กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเซตเลือกตั้งใหม่ มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 9.5 แสนบาท
กรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 1.9 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)
Tags: กกต., ค่าใช้จ่าย, ยุบสภา, เลือกตั้ง