ในการประชุมวุฒิสภาวันพรุ่งนี้ จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)
นายสมชาย แสวงการ ประธานกมธ. สามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ ครม.ดำเนินการ ระบุถึงกรณีมีการมองว่า ส.ว. ตั้งธงล่วงหน้านั้น ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งธงตีตก หากถ้ามีธงจริงก็ตีตกตั้งแต่วาระแรกแล้ว ไม่เสียเวลามาพิจารณา แต่ตั้งใจว่าต้องการให้บันทึกทั้งงานวิชาการ และกฎหมาย ต้องอ่านให้ดี ไม่มีอคติ
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขได้โดยรัฐสภา แต่หากยกร่างใหม่เท่ากับเป็นการยกเลิกมาตราที่บัญญัติไว้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ และหากจะแก้โดยถามประชามติ ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ซึ่งไม่ได้ประหยัดงบประมาณ อย่างที่หลายคนพูดไว้ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และพ.ร.บ.ประชามติไม่ตรงกัน แม้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกับวันทำประชามติ ต้องแยกหน่วยเลือกตั้งให้ชัดเจน เป็น 2 เต็นท์ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ 2 ชุด แยกกัน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย ก็ต้องเพิ่มเท่าตัว ถ้าในการเลือกตั้งใช้งบ 4,500 ล้านบาท ต้องเสียงบทำประชามติ 3,500 ล้านบาท และต้องทำ 3 ครั้ง ใช้งบประมาณราว 11,000-12,000ล้านบาท โดยจะต้องถามครั้งแรกว่า จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 ต้องแก้มาตรา 256 รูปแบบ ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไร และเมื่อยกร่างเสร็จแล้วก็ต้องถามประชาชนอีกครั้งว่าเห็นชอบหรือไม่
“รายงานของกรรมาธิการฯ ไม่ได้ปิดประตู ไม่ได้ห้ามให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยการพิจารณาวันพรุ่งนี้อยู่ที่ ส.ว.แต่ละคนจะตัดสินใจ ซึ่งเมื่อสอบถาม ส.ว.เบื้องต้นพบมีความเห็น 2 แนวทาง ส่วนหนึ่งอยากให้ส่งให้ ครม.พิจารณา แต่บางส่วนไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม หาก ส.ว.มีมติส่งให้ ครม.ก็ขึ้นอยู่ที่ ครม.ว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร จะทำหรือไม่ก็ได้เพราะเป็นเพียงรายงานของคณะกรรมาธิการฯ” นายสมชาย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 66)
Tags: การเมือง, ประชุมสภา