วิษณุ ไขข้อข้องใจหากยุบสภา เรื่องไหนทำได้-ทำไม่ได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่า นายกรัฐมนตรี ขอคำปรึกษาเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการสิ่งใดได้ หรือไม่ได้บ้างหากมีการยุบสภา โดยมอบหมายให้ตนช่วยชี้แจงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้รัฐมนตรีทุกคนได้รับทราบและเข้าใจ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องยุบสภา

“แม้จะเป็นรัฐบาลมา 8 ปีแล้ว อีกทั้งรัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นายกฯ จึงต้องการทราบว่าอะไรที่ทำได้ หรือทำไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการอธิบายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 169…การเริ่มนับหนึ่งเรื่องทำได้ หรือทำไม่ได้ คือเมื่อมีการประกาศยุบสภา หรือรัฐบาลอยู่ครบวาระ” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนที่นายกรัฐมนตรี มีความสงสัยเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ หลังจากยุบสภาแล้ว จะสามารถทำได้หรือไม่นั้น นายวิษณุ ชี้แจงว่าสามารถทำได้ เพราะในรัฐธรรมนูญกำหนดเพียงเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเท่านั้น ที่ไม่สามารถทำได้

ส่วนกรณีโครงการสวัสดิการแห่งรัฐที่ต้องเร่งดำเนินการให้ทันในเดือนมี.ค.นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 (1) ระบุว่า กรณียุบสภา หรือรัฐบาลอยู่ครบวาระ ครม.จะสิ้นสุดลงด้วย รัฐบาลจะอนุมัติโครงการใด หรือก่อให้เกิดความผูกพันกับรัฐบาลหน้าไม่ได้ เว้นแต่จะอยู่ในรายการงบประมาณแล้ว

ทั้งนี้ นายวิษณุ กล่าววว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งธงว่าจะยุบสภาเมื่อไร เพราะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และกระบวนการยุบสภา ใช้เวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น

“สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาไม่มีใครรู้ วันรุ่งขึ้นมีการประชุม ครม.ก็ถูกถามว่าทำไมไม่บอกก่อน จนพล.อ.เปรม ต้องเดินขอโทษทั้งครม. และบอกว่าต้องรีบตัดสินใจเร่งด่วน ไม่สามารถปรึกษาใครได้ และในทางกฏหมายก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี” นายวิษณุ กล่าว

สำหรับการยุบสภา จะต้องยุบหลังวันที่ 15 มี.ค.นี้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดอย่างนั้น แต่พูดว่าในเดือนก.พ. คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอเวลาไว้ เพื่อให้พรรคเล็กได้ทำเรื่องไพรมารีโหวต และตั้งสาขาพรรค ดังนั้นเพื่อเห็นแก่พรรคเล็ก เพราะหากไม่เห็นแก่พรรคเล็ก ก็สามารถยุบสภาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ก็ได้ เพราะพรรคใหญ่ได้เปรียบไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เดือนมี.ค.มีฤกษ์งามยามดีวันไหนบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เคยดูฤกษ์ วันยุบสภาจะดูฤกษ์ทำไม เพราะยุบสภาไปแล้ว แต่ที่ควรจะดูฤกษ์ คือวันเลือกตั้งมากกว่า ที่จะรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

ส่วนที่มองกันว่าการเลือกตั้งมีโอกาสจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. แสดงว่าเป็นวันฤกษ์ดีใช่หรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.ไม่ได้ยืนยัน 100% ว่าต้องเป็นวันนั้น เพียงแต่ต้องเป็นวันอาทิตย์ และมีขึ้นภายใน 60 วันหลังจากประกาศยุบสภา แต่หากเลื่อนเป็นวันที่ 30 เม.ย.66 ก็สามารถทำได้ แต่จะทำให้เหลือระยะเวลาหาเสียงน้อยลง

อย่างไรก็ดี หากวันเลือกตั้งตรงกับช่วงวันหยุดยาว จะส่งผลอะไรหรือไม่นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ได้สอบถาม กกต.แล้ว ตอนที่ประกาศวันหยุดยาว 5 พ.ค. ว่าจะกระทบวันเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่ง กกต.เห็นว่าไม่ส่งผลกระทบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top