นายอนุวัฒน์ สงวนทรัพยากร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.ไทยคม (THCOM) คาดผลประกอบการในปี 66 คาดว่า EBITDA Margin จะดีกว่าปีก่อนที่มี 41% ขณะที่รายได้ปีนี้จะกลับไปใกล้เคียงปี 64 ที่ 3.3 พันล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 65 ที่มีรายได้ 2.9 พันล้านบาท เนื่องจากความมั่นใจของลูกค้ามากขึ้นหลังบริษัทชนะประมูลการใช้สิทธิวงโคจร 2 ตำแหน่ง มีดาวเทียมดวงใหม่เข้ามา ดังนั้นลูกค้าก็ใช้ดาวเทียม Ipstar หรือดาวเทียมไทยคม 4 เข้ามาต่อเนื่อง
และรายได้จากธุรกิจใหม่ ได้แก่ space tech ได้แก่ ดาวเทียม LEO ที่ร่วมกับโกลบอลสตาร์ (Globalstar) ผู้ให้บริการระดับโลกด้านสื่อสารผ่านดาวเทียมและโซลูชั่น IoT (Internet of Things) จากสหรัฐ และ ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม ที่ร่วมมือ กับ Orbital Insight บริษัทชั้นนำด้านการให้บริการข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geospatial) จากสหรัฐ
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM เปิดเผยว่า จากที่บริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด (STI) ประมูลใบอนุญาต การใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมในชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 องศาตะวันออก และ 120 องศาตะวันออก และชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ทำให้ลูกค้าแสดงความเชื่อมั่นต่อบริษัทที่จะสามารถให้บริการได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 4 ซึ่งมีลูกค้าหลักที่เป็นลูกค้าบรอดแบนด์ ซึ่งจะหมดอายุในปลายปี 67 ดังนั้นจึงจำเป็นแบ่งเป็น 2 เฟส จำนวน 3 ดวง เพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการ
โดยเฟสแรกจะสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 และมีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี
และเฟสที่ 2 มีแผนก่อสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3/70 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี
การสร้างดาวเทียมดวงใหญ่จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากขึ้นแต่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี ดังนั้นในช่วงเวลา 2-3 ปี ช่วงที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุและจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่ บริษัทจะยิง2 ดวงเล็ก มี capacity 10%ของดวงใหญ่ ขึ้นได้เร็วเพื่อให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุ โดยบริษัทจะโฟกัส 2 ประเทศ คือไทย อินเดีย ในการสร้างรายได้ และเนื่องจากเป็นดาวเทียมดวงเล็กจึงไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศ ซึ่ง 1 ดวงรองรับได้ 1 ประเทศเท่านั้น ส่วนประเทศอื่นจะเช่าดาวเทียมต่างชาติใช้ไปก่อน หลังจากที่ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้น เราก็จะต่อยอดดีมานด์ ไปที่ดาวเทียมดวงใหญ่ด้วย ดังนั้นจะใช้พร้อม 3 ดวง ไม่ได้โอนไป
“การลงทุนดาวเทียมใหม่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะ STI ชนะการประมูล 2 วงโคจร ที่เป็นกลยุทธ์สำคัญมากในวงการดาวเทียม และเพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องในธุรกิจของไทยคมอีกไปอย่างน้อย 20 ปี และ การ secure ใน2 ตำแหน่งสำคัญในเอเชียแปซิฟิคจะเป็นการสร้างความได้เปรียบการค้าขายและธุรกิจ เพราะว่าคนที่ใช้ดาวเทียม ทุกคนทราบดีว่าตำแหน่งวงโคจร 119.5 เป็นตำแหน่งทองคนอยากใช้ และเราใช้มายาวนานมาก อันนี้แสดงว่าเป็นโอกาสทองที่เราสามารถจะต่อยอด กับสิ่งที่เราได้มา กับสิ่งที่เราลงทุน 1.5 หมื่นล้าน จะสร้างกำไรกลับมาให้กัลกลุ่มไทยคม ในระยะยาวอย่างมีนัยสำคัญ “
ทั้งนี้ การลงทุนดาวเทียมจะใช้เงินลงทุน 1.52 หมื่นล้านบาทที่รวมค่าใบอนุญาตด้วย โดยบริษัทจะใช้เงินกู้ 65-85% ของเงินลงทุน และที่เหลือมาจากส่วนทุน โดยบริษัทมีเงินสด ในมือ อยู่ 5800 ล้านบาท พร้อมที่จะนำไปลงทุนดาวเทียมดวงใหม่ และตอนนี้มีหนี้น้อยมาก
ส่วนการลงทุนดาวเทียม ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ยังมีเวลาตัดสินใจอีกครั้งใน 1 ปี
“เงื่อนไขในใบอนุญาตของกสทช. คือเราต้องมีดาวเทียมในตำแหน่งที่ประมูลได้ 119.5 กับ 78.5 ภายใน 3 ปีโดย 78.5 อาจมีดาวเทียมดวงเล็กไปก่อน แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ ยังมีเวลาตัดสินใจอีก 1 ปี ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการบริษัท”นายปฐมภพ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.พ. 66)
Tags: THCOM, ดาวเทียม, ปฐมภพ สุวรรณศิริ, ผลประกอบการ, หุ้นไทย, อนุวัฒน์ สงวนทรัพยากร, ไทยคม