ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ในการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามมาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564
โดยวันนี้ กกต.ได้หารือถึงกรณีดังกล่าว พร้อมนำข้อคิดเห็นจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งนี้มีผู้ทักท้วงกรณีที่ กกต.นำคนต่างด้าวในแต่ละพื้นที่มารวมคำนวณเป็นราษฎร ซึ่ง กกต.ระบุว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอด
“เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นด้วยความเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นแล้ว จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี” เอกสารประชาสัมพันธ์ของ กกต.ระบุ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องดี เพราะช่วยให้สังคมคลายสงสัย ส่วนจะเป็นการถ่วงเวลาให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไปหรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า เป็นการทำให้ล่าช้า แต่ไม่ใช่การถ่วงเวลา แต่เป็นการป้องกันเอาไว้
ส่วนประเด็นนี้ ศาลจะรับพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นประเด็นสงสัยในอำนาจหน้าที่ ส่วนจะต้องใช้เวลากี่วันนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อส่งไปแล้วก็อย่า ติดใจสงสัย ว่าใช้เวลากี่วันต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของศาล
ส่วนจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถยุบสภาได้ในเดือนก.พ.และต้องขยับไปเป็นกลางเดือนมี.ค.หรือไม่ และกรอบเวลาของกกต. เพียงพอหรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นอำนาจของรัฐบาล หากยุบสภาแล้วศาลรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการพิจารณาก็ทำได้
“กำหนดวันเลือกตั้งผมไม่อยากพูด เดี๋ยวจะหาว่าเป็นการชี้ช่อง กำหนดวันเลือกตั้งเมื่อประกาศแล้วก็เลื่อนได้ รัฐธรรมนูญบอกไว้เลย น้ำท่วมก็เลื่อนได้ ภูเขาระเบิด แผ่นดินไหวก็เลื่อนได้ หรือมีเหตุขัดข้องในเรื่องนี้ก็เลื่อนได้”นายวิษณุ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 66)
Tags: กกต., ศาลรัฐธรรมนูญ, เลือกตั้ง