นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ยอมรับว่า หลังเกิดเหตุการณ์ที่ประชาชนโดนมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินมากขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของธนาคาร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมาย เพื่อป้องการการโจรกรรมทางไซเบอร์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันข้อมูลระหว่างธนาคารยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะมีกลไกของกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลกำกับดูแลอยู่ ดังนั้น การยกร่างกฎหมายก็จะทำให้แต่ละธนาคารสามารถส่งข้อมูล ธุรกรรม ผู้ใช้เจ้าของบัญชีที่มีความน่าสงสัยระหว่างกันได้ เช่น บัตรประชาชนใบเดียวกัน เปิดหลายบัญชีผิดปกติ ก็สามารถเฝ้าระวังติดตามได้
“ขณะนี้หน่วยงานของรัฐ กระทรวงดีอีเอส กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างการดูแลกฎหมาย เบื้องต้นถ้ามีผลบังคับใช้ ธนาคารสามารถบล็อกบัญชีได้เลยโดยไม่ต้องรอใบแจ้งความ รวมทั้งแต่ละธนาคารยังมีการพัฒนาระบบกลางร่วมกัน คือ central fraud registry โดย ITMX ดังนั้นการแก้ปัญหาจะเป็นการดูทั้งท่อน ช่วยให้ระบบมีการยับยั้งความเสียหายได้เร็วขึ้น มีการอายัดบัญชีได้ไวขึ้นแน่นอน ส่วนจะภายในกี่ชั่วโมงคงแล้วแต่กรณี” นายผยง กล่าว
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ทางการได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการแก้ปัญหามิจฉาชีพ หลอกลวงเงินประชาชน ดูบัญชีเงินฝากผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ และขอเตือนประชาชนอย่างได้หลงเชื่อข้อความที่ส่งมาเป็นอันขาด โดยเฉพาะข้อความข่มขู่ให้เกิดความกลัวจากหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมจัดเก็บภาษี ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ที่หลอกลวงว่ายื่นเสียภาษีไม่ถูกต้อง หรือมีของต้องเสียภาษีนำเข้า
“ขอยืนยันว่า ทุกกรมฯ มีนโยบายไม่ให้เจ้าหน้าที่โทรหาประชาชนเด็ดขาด หากสงสัย ให้วางสาย และติดต่อกลับมาที่กรมฯ โดยตรง” รมว.คลัง กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบว่ามีผู้ถูกหลอกลวงเฉลี่ยวันละ 800 ราย ซึ่งตามขั้นตอนต้องมีการแจ้งความ มีหลักฐาน และแจ้งไปยังธนาคารเจ้าของบัญชี ซึ่งกระบวนการต้องใช้เวลา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)
Tags: KTB, กระทรวงดีอีเอส, ดีอีเอส, ธนาคารกรุงไทย, ผยง ศรีวณิช, มิจฉาชีพ, หน่วยงานรัฐ, หลอกโอนเงิน