นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีการพิจารณา การทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ที่ กพช. ได้เคยมีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 เนื่องจากสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคา LNG ในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินการโดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้รับใบอนุญาต Shipper (LNG Shipper) ทั้ง 8 ราย มาหารือถึงปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 และข้อเสนอแนะต่างๆ ซึ่งได้ประเด็นปัญหาที่สำคัญ คือ ผลกระทบจากสถานการณ์ราคา LNG ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ Shipper รายใหม่ ไม่สามารถแข่งขันกับ Shipper รายเดิมในกลุ่ม Regulated Market ได้
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการตามแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้พลังงาน ที่ประชุม กพช. จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยมีโครงสร้างกิจการ ดังนี้
1. ธุรกิจต้นน้ำ ให้ PTT Shipper บริหารจัดการ Old Supply และ Shipper ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ สามารถจัดหาและนำเข้า LNG ได้ โดยมอบหมายให้ กกพ. กำกับดูแล และกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการจัดหา LNG ตามปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อภาระ Take or Pay
2. ธุรกิจกลางน้ำ ให้ Shipper ทุกราย ในกลุ่ม Regulated Market ขายก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่จัดหาได้ให้กับ Pool Manager เพื่อนำไปรวมเป็น Pool Gas ของประเทศ และซื้อก๊าซธรรมชาติออกจาก Pool Gas ตามปริมาณที่จัดหาและนำเข้า Pool Gas โดยมอบหมายให้ ปตท. เป็นผู้บริหารจัดการ Pool Gas ของประเทศ (Pool Manager) และให้ กกพ. กำกับดูแลการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่าง Shipper กับ Pool Manager รวมทั้ง ให้ดำเนินการจัดตั้ง Transmission System Operator (TSO) เป็นนิติบุคคลใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 66
3. ธุรกิจปลายน้ำ ให้ Shipper ในกลุ่ม Regulated Market ซื้อก๊าซธรรมชาติจาก Pool Manager ในราคา Pool Gas ตามปริมาณก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ที่ Shipper นั้นๆ จัดหาและนำเข้า เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ และ Shipper ในกลุ่ม Partially Regulated Market ให้ขาย LNG ให้กับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติได้โดยตรง
ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ สำนักนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกันพิจารณาเพิ่มเติมแนวทางบริหารและกำกับดูแลโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติที่มีการทบทวนครั้งนี้ ให้ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการหลายราย และทำให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติทุกกลุ่มได้ประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันดังกล่าว
นายกุลิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการดูแลตลาด POOL จะมีการจัดตั้งส่วนดูแล หรือ POOL MANAGER ที่ เบื้องต้น ปตท. เป็นผู้ดูแล แต่จะมีการแยกบัญชีออกมาชัดเจนแล้ว
ในอนาคต กกพ. เสนอว่า POOL MANAGER จะเป็นองค์กรอิสระมาดูแล ทั้งในส่วนการซื้อหรือนำเข้า และ การจำหน่าย ที่ 8 ชิปเปอร์สามารถนำไปจำหน่ายได้ ซึ่งจะต้องรอภาคนโยบายประกาศใช้ คาดว่าจะเห็นชิปเปอร์รายใหม่นำเข้าได้ภายในปีนี้ ส่วนตัวเลขนำเข้าจะเป็นเท่าไรนั้น ต้องมาคำนวณก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับดีมานด์ของแต่ละรายด้วย
สำหรับรายชื่อ 8 ชิปเปอร์ ที่ได้รับการอนุมัติ ให้นำเข้าและจำหน่ายแอลเอ็นจี จากกกพ.แล้วประกอบไปด้วย
(1) บมจ. ปตท. (PTT)
(2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
(3) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF)
(4) บริษัท หินกอง เพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
(5) บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
(6) บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO)
(7) บมจ ปูนซีเมนต์ไทย (SCC)
(8) PTT Global LNG Company Limited
อย่างไรก็ตาม ราคา LNG ในปีนี้ ที่ราคาต่ำลงกว่าปีที่แล้ว จึงคาดค่าไฟฟ้าในงวดถัดไปในปีนี้ราคาจะต่ำลง โดยเฉพาะราคา LNG ตลาดโลกล่าสุดลดลงเหลือประมาณ 15-16 เหรียญสหรัฐ/ล้านบียู จากปลายปีที่ผ่านมาที่เคยสูงในระดับ 30-40 เหรียญ/ล้านบีทียู และเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ในปีนี้โรงไฟฟ้าต่างๆ อาจไม่จำเป็นต้องใช้น้ำมันเตา และดีเซล ในการผลิตกระแสไฟฟ้า จากที่ปีที่แล้วต้นทุนน้ำมันนั้นต่ำกว่าการใช้ LNG นำเข้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)
Tags: กพช., กระทรวงพลังงาน, ก๊าซธรรมชาติ, กุลิศ สมบัติศิริ, คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ