ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ก.ล.ต. สหรัฐมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการ Staking สินทรัพย์ดิจิทัลบน Platform ต่าง ๆ เช่น Coinbase หรือ Kraken ว่าจัดเป็นหลักทรัพย์
Kraken ตัดสินใจจ่ายค่าปรับแก่ ก.ล.ต.สหรัฐและหยุดการให้บริการ Staking ในสหรัฐอเมริกา ส่วน Coinbase ยังคงให้บริการ Staking และปฏิเสธว่าบริการดังกล่าวไม่ใช้หลักทรัพย์ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ของสหรัฐ หรือภายใต้หลักเกณฑ์ Howey Test
นิยามและมุมมองของ ก.ล.ต.สหรัฐเกี่ยวกับ หลักทรัพย์ ที่เป็นที่ถกเกียงกันมานานก่อนยุคสินทรัพย์ดิจิทัล จึงถูกนำมาวิพากษ์กันอีกครั้งหนึ่ง
และเมื่อมีการถกเถียงกันว่า อะไรคือหลักทรัพย์ในมุมมอง ก.ล.ต.สหรัฐ ตัวอย่างที่จะทำให้เห็นภาพง่ายที่สุด คือ หลักเกณฑ์ Howey หรือ Howey Test ซึ่งย้อนกลับไปในยุค 40 หรือ 1940s มี บริษัท Howey ซึ่งเป็นเจ้าของสวนส้มตัดแบ่งที่ดินมาขายบุคคลรายย่อยและสามารถจ้างเจ้าของเดิมมาช่วยดูแลสวนส้มและเก็บส้มไปขายนำกำไรกลับมาให้ผู้ซื้อส่วนส้มที่ถูกตัดแบ่ง จะเห็นได้ว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัทหรือสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ แต่ ก.ล.ต.สหรัฐในเวลานั้นได้ยื่นฟ้อง Howey ว่าการขายที่ดินพร้อมสัญญาจ้างดูแลสวนส้ม เป็นสัญญาการลงทุนซึ่งถือเป็น “หลักทรัพย์” และการกระทำดังกล่าวดำเนินการโดยไม่ได้ขออนุญาตต่อ ก.ล.ต.
ต่อมาศาลสูงของสหรัฐอเมริกาก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของบริษัท Howey เป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ โดยให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า แม้บริษัทไม่ได้เสนอขายหุ้น แต่โดยพฤตินัยแล้วการดำเนินการดังกล่าวไม่ต่างจากการระดมเงินทุน เพราะนักลงทุนจะเอาเงินมาลงทุนในโครงการสวนส้มเพื่อหวังว่าบริษัทจะดูแลโครงการหรือสวนส้มเพื่อให้ได้ผลกำไรเป็นเงินกลับมา
นอกจากนั้นแล้วศาลสูงยังมองว่าคนที่มาซื้อที่ดินไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินจริง ๆ จากข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ซื้อจำนวนมากไม่เคยเห็นหรือเดินทางมายังที่ดินเลย ซึ่งทำให้ทางพฤตินัยแล้วบริษัท Howey ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินอยู่
คดีดังกล่าวจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า Howey Test ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่ากิจกรรมใดเป็น หลักทรัพย์ หรือไม่ จำนวน 4 หลักเกณฑ์
1) ลงทุนเป็นตัวเงิน
2) ลงทุนในกิจการทั่วไป
3) มีความคาดหวังว่าจะมีกำไรเป็นเงิน
4) กำไรนั้นมาจากการทำงานของคนอื่น
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้กำหนดไว้ว่าสิ่งใดเป็น หลักทรัพย์ เพียงแต่กำหนดลักษณะของการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็น หลักทรัพย์ เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ผู้ซื้อ หรือผู้ลงทุนนั้น ๆ จ่ายเงินให้แก่โครงการหรือบริษัทโดยคาดหวังว่าโครงการหรือบริษัทจะนำเงินนั้นไปทำให้เพิ่มขึ้นหรือมีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
หลักเกณฑ์ Howey Test ซึ่งมีอายุมากกว่า 80 ปีกำลังถูกท้าท้ายจากเทคโนโลยีการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนกว่าการลงทุนรูปแบบเดิม ๆ จึงน่าติดตามว่าหากมีกรณีพิพาทที่ ก.ล.ต.สหรัฐกล่าวหาสินทรัพย์ดิจิทัลใดว่าเป็นหลักทรัพย์ขึ้นสู่ศาลสูง ศาลสูงของสหรัฐในปัจจุบันจะมีแนวคิดหรือหลักเกณฑ์การพิจารณาความเป็นหลักทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)
Tags: Cryptocurrency, Decrypto, SCOOP, คริปโทเคอร์เรนซี, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล