CAAT เร่งปิดจุดอ่อนธงแดง เล็งให้ ICAO ประเมินปลายปี 66

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. เปิดเผยว่า กพท. ตั้งเป้าหมายช่วงปลายปี 2566 จะส่งหนังสือถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อเชิญเข้าตรวจประเมินและแก้ไขข้อบกพร่องด้านการบินพลเรือนของไทย ขณะนี้ กพท.อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ ทั้งระบบเรื่อง บุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยี ในการปฎิบัติหน้าที่ เพื่อปรับปรุงแก้ไข ให้เกิดประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐาน โดยได้ร่วมมือกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินและ องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (EASA ) คาดจะปรับขึ้นมาที่ประมาณ 83%

ทั้งนี้ ข้อกำหนดสำคัญที่มีผลต่อการประเมิน ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน คือ การออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ ของสนามบินระหว่างประเทศทั้ง 10 แห่ง ซึ่งขณะนี้ มีสนามบินที่ได้รับใบรับรองฯแล้ว จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินเบตง สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา สนามบินสมุย สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงใหม่ โดยตั้งเป้าว่า ภายในไตรมาส 3 ปี 2566 จะสามารถออกใบรับรองฯ ให้กับสนามบินระหว่างประเทศครบ 10 แห่ง

ประเทศไทยมีสนามบินจำนวน 39 แห่ง ที่ต้องมีการออกใบรับรองการดำเนินงานสาธารณะ โดยได้ใบรับรองฯ แล้ว 5 แห่ง อยู่ระหว่างกระบวนการออกใบรับรองฯ จำนวน 26 แห่ง ได้แก่ สนามบินระหว่างประเทศ 6 แห่ง (รวมการออกใบรับรองใหม่ หรือ (Re-certification) จำนวน 4 แห่ง และสนามบินภายในประเทศ 20 แห่ง และมีสนามบินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองฯ 5 แห่ง ได้แก่ สนามบินแพร่ สนามบินปาย สนามบินนราธิวาส สนามบินนครราชสีมา และสนามบินเพชรบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจะออกใบรับรองฯ ได้ครบทั้งหมดภายในปี 2567

โดยในปี 2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบินภายใต้ยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี ของกพท. โดยมุ่งยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินให้เป็นมาตรฐานสากลเทียบเคียงกับประเทศชั้นนำของโลก

ทั้งนี้ หลังประเทศไทยสามารถปลดธงแดง ได้ในปี 2560 ซึ่งได้มีการแก้ไข ข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns) 33 ข้อให้กลับคืนสู่มาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในระดับสากลแล้ว แต่ ประเทศไทยและ กพท. ยังคงมีภารกิจที่ต้องปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Safety Oversight Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USOAP-CMA) และด้านการรักษาความปลอดภัยภายใต้โครงการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยสากลอย่างต่อเนื่อง (Universal Security Audit Program-Continuous Monitoring Approach : USAP-CMA)

ซึ่งตอนปลดธงแดง ผลการตรวจสอบพบว่าระดับประสิทธิผลของการนำมาตรฐาน ICAO มาใช้บังคับในประเทศ (Effective Implementation หรือ EI) ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 65.07% ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานที่ ICAO กำหนดคือ 60%

แต่ปัจจุบัน ค่ามาตรฐานของไทยคะแนนลดลงมาอยู่ที่ 61% ทั้งนี้ เนื่องจาก ในปี 2563 ทาง ICAO ได้ออกชุดคำถามที่มีการปรับใหม่ ( PQ2020 ) ตรวจประเมินการบินทั่วโลกส่งผลให้ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกลดลงราว 4% ซึ่งคะแนนที่ลดลง ทำให้ไทย อยู่ในอันดับรองสุดท้าย ของประเทศอาเซียน ทำให้กระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้กพท.เร่งรัดการแก้ไขเพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการบินของประเทศขึ้นอีก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top