นักวิชาการไม่ค้านนโยบายประชานิยม แนะแจงแหล่งรายได้ เลี่ยงวิกฤติฐานะการคลัง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่เห็นพรรคการเมืองพรรคใด นำเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจทุนนิยม ให้เป็นระบบทุนนิยมแบบที่ทุกคนเป็นเจ้าของมากขึ้น (Stakeholder Capitalism) สิ่งนี้จะช่วยให้การลดความเหลื่อมล้ำถูกแก้ไขในระดับโครงสร้าง และยังไม่เห็นความชัดเจนว่าพรรคการเมืองต่างๆ จะสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญโดยผู้แทนที่มาจากประชาชน หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่

โดยสิ่งที่เห็นพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายอยู่เวลานี้ คือ สารพัดนโยบายประชานิยม ที่อาจนำมาสู่ความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลังในอนาคต นโยบายส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง จะทำให้ภาครัฐใหญ่ขึ้นและมีบทบาทเพิ่มขึ้นในทางเศรษฐกิจและสังคม สังคมอาจสูญเสียสวัสดิการจากความไม่มีประสิทธิภาพและการทุจริตในระบบราชการ เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจที่มีลักษณะเป็น Deadweight Loss สำหรับประเทศไทยแล้ว การมีภาครัฐที่เล็ก (Smaller Government) แต่แข็งแกร่ง มีคุณภาพ สำคัญกว่ามาก เพราะจะลดปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพ และการทุจริตรั่วไหลที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การแข่งขันกันของพรรคการเมืองในการนำเสนอนโยบายสาธารณะ ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายสวัสดิการสังคมที่มีลักษณะประชานิยม ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และยังไม่ได้เกิดความเสียหายใดๆต่อประเทศ หรือส่งผลเสียต่อประชาชนในระยะยาว เพราะนโยบายประชานิยม หรือแนวทางประชานิยมก็มีหลายลักษณะ หากยังยึดถือกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ยึดความมีวินัยการเงินการคลัง ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องความรับผิดชอบของพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่ต้องนำเสนออย่างมีความรับผิดชอบ มิใช่มุ่งหาเสียงหาคะแนนนิยมอย่างเดียว ขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคการเมือง ด้วยข้อมูลและคิดถึงประโยชน์สาธารณะโดยองค์รวม และอนุชนรุ่นหลังด้วย

ที่สำคัญที่สุด พรรคการเมืองต้องแจงที่มาแหล่งรายได้ที่จะนำมาสนับสนุนนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มเงินสวัสดิการ เพิ่มเงินเดือน ลดภาษี หรืออุดหนุนราคาสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพต่างๆ การประกันราคาสินค้าเกษตร การจำนำสินค้าเกษตร เป็นต้น พรรคการเมืองต้องระบุแหล่งรายรับสนับสนุนงบประมาณให้ชัดว่ามาจากไหน จะขึ้นภาษีด้วยการเพิ่มอัตราภาษี หรือขยายฐานภาษี หรือก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม หรือหาแหล่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ

“พรรคการเมือง ควรหันมาให้ความสำคัญต่อนโยบายจัดการทางด้านอุปทาน มากกว่านโยบายการจัดการทางด้านอุปสงค์ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโดยภาพรวมนั้นฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว ความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นทางด้านอุปสงค์ มีความจำเป็นน้อยลง ขณะที่สังคมไทยมีปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสูง ต้องอาศัยนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและมาตรการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า สังคมไทยมีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงมาก แต่บางพรรคการเมืองก็ยังคงดำเนินการตามแนวทาง “ธนาธิปไตย” แบบเข้มข้น อันเป็นต้นทางของการถอนทุน และทุจริตคอร์รัปชันในระดับนโยบาย การทุจริตคอร์รัปชันในระดับนโยบายหรือการเมือง เมื่อผสานเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชันในระดับราชการประจำที่หยั่งรากลึกอยู่แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างที่ควรจะเป็น แม้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นแล้วก็ตาม

พร้อมกันนี้ ยังมองว่าการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง ย่อมนำไปสู่การสืบทอดอำนาจต่อไปของระบอบอำนาจนิยมผ่านการเลือกตั้งอันบิดเบี้ยว การแทรกแซงองค์กรอิสระ ระบบศาลยุติธรรมไม่ปฏิบัติตามหลักการแห่งกฎหมาย และไม่สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ การใช้อำนาจหรือการจ่ายเงินปิดปากสื่อมวลชน ปิดกั้นเสรีภาพของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การเขียนกฎกติกาการจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม จนถึงการตั้งใจสร้างเงื่อนไขให้มีคนไปฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะเ มื่อฝ่ายผู้มีอำนาจไม่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ ย่อมเป็นสัญญาณของเสื่อมถอยของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตย และลางร้ายของเศรษฐกิจไทยและการลงทุน

“ความหวั่นไหวที่ผู้มีอำนาจจะไม่เล่นตามกติกาประชาธิปไตยนั้น ยังคงมีอยู่ เพราะพวกเขาสามารถบันดาลหรือสร้างเหตุ ทำให้ “เลือกตั้ง” เป็นโมฆะได้ หรือหาเหตุยุบพรรคการเมือง สภาวะดังกล่าว เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยลบต่อภาคการลงทุน และกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองในอนาคต” นายอนุสรณ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top