สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนสติประชาชนช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ “รักเขา รักษาเงินในบัญชีเราด้วย” แนะวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก
พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า สถิติอาชญากรรมออนไลน์ประจำเดือน มกราคม 2566 จากศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ พบว่าสถิติคดีเกี่ยวกับการหลอกให้รัก สูงถึง 403 คดี โดยแบ่งเป็น คดีประเภทหลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน 168 เรื่อง และคดีหลอกลวงให้รักแล้วลงทุน 235 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 190 ล้านบาท
ทั้งนี้ ภัยออนไลน์เกี่ยวกับความรักหรือ Romance Scams คือการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาพัฒนาความสัมพันธ์กับเหยื่อผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างความเชื่อใจระหว่างบุคคล แล้วทำการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับเงิน ซึ่งในปัจจุบันพบหลากหลายวิธี เช่น (1) หลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance scam) ด้วยการสร้างเรื่องราวต่างๆ ที่ให้ความหวังหรือที่น่าเห็นใจ (2) หลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ปลอมด้วยการโอนเงินหรือลงทุนในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล (3) หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ควบคุมสมาร์ทโฟนและทำการดูดเงินในบัญชี และ (4) หลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยการชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ แล้วนำภาพหรือวิดีโอมาขู่เรียกค่าไถ่ หรือบีบบังคับให้กระทำการอื่นๆ
ดังนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แนะข้อสังเกตแจ้งเตือนประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโจรลวงรักออนไลน์ ดังนี้
1. ใช้รูปโปรไฟล์ของคนหน้าตาดี : มิจฉาชีพมักจะสร้างตัวตนปลอมโดยใช้รูปโปรไฟล์ที่หน้าดึงดูด คุยเก่งอัธยาศัยดี มีประวัติที่น่าสนใจ ประชาชนจึงควรตรวจสอบ ยืนยันตัวบุคคลที่เราคุยด้วยทางแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ชัดเจนในหลากหลายช่องทาง ระลึกไว้เสมอว่า ไฟล์เอกสารยืนยันตัวตนที่ส่งมา หรือเว็บไซต์บริษัทหรือหน่วยงานที่ปรากฏชื่อคนที่เราคุยด้วย อาจถูกปลอมแปลงขึ้น และหากมีการขอให้เปลี่ยนช่องทางในการคุย โดยการแนะนำให้ดาว์นโหลดแอปพลิเคชั่น หรือกดลิงค์ไม่ทราบที่มาที่ไปชัดเจน ห้ามกดเด็ดขาด เพราะอาจเป็นแอปรีโมทที่สามารถดูดเงินให้บัญชีของเราได้
2. หลอกขายฝัน : มิจฉาชีพมักจะแสร้งว่ามีความรักความปรารถนาดีให้ และทำการแนะนำให้ทำการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต หรือหลอกว่าจะมาใช้ชีวิตหรืออนาคตด้วยกัน ดังนั้นหากคนที่กำลังคุยทางออนไลน์มีการชักชวนให้ทำการลงทุนผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ หรือขอความช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล และค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าภาษีของมีค่าของขวัญที่ส่งมาให้ ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ
3. ลวงเอาข้อมูลส่วนตัว : มิจฉาชีพมักจะคุยและหลอกล่อให้เราเผยข้อมูลส่วนตัว หรือส่งเอกสารสำคัญให้ เพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิดและสร้างความเสียหาย นอกจากนี้ ประชาชนต้องระมัดระวังการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวทางสื่อสังคมออนไลน์ การเช็คอิน การเปิดเผยกิจวัตรประจำวันที่มากเกินไป และไม่ส่งรูปภาพ คลิปวีดีโอ หรือการวีดีโอคอล ในลักษณะโป๊เปลือย ที่อาจนำไปสู่การแบลกเมล์เรียกค่าไถ่ รวมถึงระมัดระวังการนัดพบกับคนคุยออนไลน์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน อยู่เสมอ ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด
รองโฆษก ตร. กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ จึงได้สั่งการหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ทั่วประเทศกำหนดมาตรการเชิงรุกในการดูแลความปลอดภัย “Stop Walk Talk” จัดสายตรวจออกตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่ที่ล่อแหลม หรือเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม การคุกคามทางเพศ หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม
หากประชาชนพบเหตุการณ์ บุคคล หรือวัตถุต้องสงสัย โปรดแจ้ง 191 หรือ 1599 โดยปัจจุบันศูนย์ PCT มีการเตือนภัยพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบกลโกงของคนร้าย หากสงสัยเกรงจะตกเป็นเหยื่อสามารถปรึกษาได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-8663000 ผู้เสียหายสามารถแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com และสามารถติดตามรูปแบบการประชาสัมพันธ์กลโกงได้ที่ pctpr.police.go.th
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.พ. 66)
Tags: ณพวรรณ ปัญญา, มิจฉาชีพ, วาเลนไทน์, อาชญากรรมออนไลน์