ผู้นำสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) ว่า พวกเขาจะทำการคุมเข้มบริเวณพรมแดนเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพที่ไม่พึงประสงค์ โดยบางประเทศต้องการกั้นรั้วและกำแพงเพิ่มเติม ขณะที่บางประเทศยอมทุ่มเงินกับการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ด้อยโอกาสต่าง ๆ ของโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้นำจากออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ได้เข้าร่วมประชุมกับผู้นำ 27 ชาติที่ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยยอดการเดินผ่านพรมแดนแตะราว 330,000 ครั้งในปีที่ผ่านมา
ลีโอ วารัดการ์ นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ระบุว่า “ประเทศในยุโรปกำลังเผชิญกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากชาตินอกยุโรปอย่างไม่ปกติ”
นายวารัดการ์ระบุเสริมว่า “เป็นเรื่องสำคัญที่เราในฐานะชาวยุโรป ต้องเป็นคนตัดสินใจว่าใครสามารถเข้ามาในประเทศของเรา ไม่ใช่พวกลักลอบค้ามนุษย์ ผู้ที่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยมีสิทธิ์ที่จะอยู่ต่อ แต่คนอื่น ๆ นั้นจะไม่ได้รับ และพวกเขาควรถูกส่งกลับ”
รายงานระบุว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมากใน EU นับตั้งแต่ปี 2558 เมื่อผู้คนกว่าล้านคนซึ่งส่วนใหญ่หนีจากสงครามในซีเรีย ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังยุโรป และประเทศสมาชิกต่างต้องเผชิญภาระในการดูแลช่วยเหลือผู้อพยพ
ทั้งนี้ เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ชาติสมาชิก EU จึงหันไปใช้แนวทางการคุมเข้มบริเวณพรมแดนเพื่อป้องกันไม่ให้คนจากตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชียเดินทางเข้ามา แม้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นโยบายดังกล่าวนั้นไร้มนุษยธรรมและเพิกเฉยกับช่องว่างในตลาดแรงงานก็ตาม
รัฐสภายุโรประบุว่า จากสเปนและกรีซไปจนถึงลัตเวียและโปแลนด์นั้น มีกำแพงและรั้วกั้นพรมแดนใน EU ยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ในปี 2565 เมื่อเทียบกับเพียง 300 กว่ากิโลเมตรในปี 2557
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.พ. 66)
Tags: EU, ผู้อพยพ, พรมแดน, สหภาพยุโรป