เลือกตั้ง’66: สมชัย เซฟ กกต.แนะยื่นศาลตีความ “ราษฎร” หวั่นโดนฟ้องย้อนหลัง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แนะกกต. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคำว่า “ราษฎร” ตามมาตรา 86 เพราะจะช่วยให้ กกต.ทำงานได้มั่นคง ปลอดภัยมากขึ้น โดยมองว่า กกต.ไม่ได้เสียหาย ถ้าจะไปยื่นให้ศาลตีความเรื่องนี้ เพราะถ้าศาลตีความตามความเห็นของ กกต. ก็เดินหน้าตามตารางงานเดิม

แต่ถ้าศาลตีความว่าไม่ใช่ กกต.ก็ต้องถอนกลับมา เพื่อแก้ไขการคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ใน 6 จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจจะทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ช้าไปบ้างเพียง 2 สัปดาห์ แต่ก็ยังอยู่ในกรอบกำหนดการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ มองว่าดีกว่าให้ประชาชนไปร้องเรียนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือไปร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญในภายหลัง ซึ่งหากทุกอย่างดำเนินไปแล้ว เช่น หาเสียงแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว ได้ผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว และภายหลังศาลตัดสินว่าผิด ก็จะเกิดความเสียหายตามมาอีกมาก

“จะมาอ้างเหตุว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ใช่การประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ได้แล้ว เพราะเราเตือนแล้ว เมื่อเตือนแล้ว คือรู้แล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการ ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง ถ้ามีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 40 เขตนั้น ก็น่าจะเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ถ้าผิดจริงเรื่องนี้ต้องชดใช้ตามตัวบุคคล ไม่สามารถนำเงินราชการมาชดใช้ได้” อดีต กกต.กล่าว

นายสมชัย กล่าวว่า การนำจำนวนราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทย มานับรวมกับราษฎรสัญชาติไทย เพื่อคำนวณเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ของแต่ละจังหวัดนั้น เป็นการตีความคำว่า “ราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ที่กกต.ไปตีความว่าหมายถึงราษฎรทั้งหมดทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ยังมีคนที่มีความเห็นต่างจาก กกต.ว่าควรเป็นคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งในจำนวนที่ต่างกันนี้ มีต่างกันถึง 980,000 คน และจำนวนนี้ไปหนักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และตาก

ทำให้ 3 จังหวัดนี้ เมื่อคำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จะมี ส.ส.เพิ่มมาจังหวัดละ 1 คน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังแบ่งเขต คือ จะเป็นเขตเลือกตั้งที่มีคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทยจำนวนมากถึงหลักแสนคน แต่ขณะเดียวกัน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง จำนวนราษฎรที่จะสามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้จริง อาจมีไม่ถึงครึ่ง เพราะคนที่ไม่มีสัญชาติไทยเหล่านี้ จะไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ และอาจทำให้อำนาจอิทธิพล การซื้อเสียงต่างๆ จะมีโอกาสใช้ได้ผลอย่างเต็มที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 66)

Tags: , , ,
Back to Top