ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน FETCO พุ่งเข้าเกณฑ์ “ร้อนแรงมาก” ท่องเที่ยวฟื้นเร็ว-เงินทุนไหลเข้าหนุน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 160.07 เพิ่มขึ้น 31.5% จากเดือนก่อนหน้า เข้าสู่เกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” เนื่องจากนักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวเป็น

ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือเงินทุนไหลเข้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ นโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และการประกาศจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ

นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดพาณิชย์ (COMM) และหมวดธนาคาร (BANK) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ (PAPER) ไม่น่าสนใจมากที่สุด รองลงมาคือหมวดเหมืองแร่ (MINE) และหมวดบริการเฉพาะกิจ (PROF)

ดัชนีความเชื่อมั่นรายกลุ่มนักลงทุนสำรวจเดือนมกราคม 2566 พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับขึ้นสู่เกณฑ์ “ร้อนแรงอย่างมาก” ในขณะที่กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับขึ้นอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”

ผลสำรวจ ณ เดือน ม.ค.66 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 29.8% อยู่ที่ระดับ 166.67 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 60.4% อยู่ที่ระดับ 137.50 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 42.1% อยู่ที่ระดับ 150.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับเพิ่ม 28.0% อยู่ที่ระดับ 160.00

ในช่วงเดือน ม.ค.66 SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่าง 1,663.86-1,691.41 ปัจจัยหนุนภายนอกมาจากแนวโน้มการชะลอปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) การชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเศรษฐกิจสำคัญ และการเปิดประเทศของจีน ส่งผลให้นักลงทุนคลายกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนของปัจจัยในประเทศแม้ได้รับปัจจัยหนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว แต่นักลงทุนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมากว่า 1 ปี ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4/65 ออกมาต่ำกว่าคาด และความกังวลต่อการจัดเก็บภาษีขายหุ้น

SET Index ณ สิ้นเดือน ม.ค.66 ปิดที่ 1,671.46 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิกว่า 18,997 ล้านบาท

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่ากรอบเป้าหมายของเฟด จึงไม่น่ามีการลดดอกเบี้ยในปี 66 แนวโน้มการเลิกจ้างงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19

ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ได้อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีน การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออกสินค้าที่อาจจะชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าสำคัญ โอกาสในการเป็นฐานการผลิตหลังหลายประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงจับตามองการนับถอยหลังสู่การยุบสภาและผลการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งจะสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 66

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด

รายบุคคล – ส่วนใหญ่มองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน

ประเทศ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและการไหลเข้าของเงินทุน

กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ – มองว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุน

กลุ่มสถาบันในประเทศ – เห็นว่าการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ การไหลเข้าของเงินทุนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน

ต่างชาติ – มองว่าการไหลเข้าของเงินทุน เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้ นตัวของภาคท่องเที่ยว การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด

รายบุคคล – เห็นว่าการเก็บภาษีขายหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ – มองว่าการเก็บภาษีขายหลักทรัพย์ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการไหลออกของเงินทุน

กลุ่มสถาบันในประเทศ – เชื่อว่านโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ การไหลออกของเงินทุน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ต่างชาติ – เห็นว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์แพร่ระบาด Covid-19

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top