น.ส.อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า Association of Natural Rubber Production Countries (ANRPC) ซึ่งเป็นสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ คาดปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 15.563 ล้านตัน มีการขยายตัวอยู่ที่ 5% ตามความต้องการตลาดโลกที่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกและอุตสาหกรรมถุงมือยางเติบโตสูงขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคายางโลก ขณะที่ คาดปริมาณผลผลิตยางโลกมีประมาณ 14.310 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)
สำหรับสถานการณ์ยางของไทยไตรมาสที่ 1/66 คาดว่าผลผลิตมีแนวโน้มลดลง หลังเดือนม.ค.ที่ผ่านมาลดลงกว่าที่คาดไว้ 26% เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกชุกต่อเนื่องตั้งแต่เดือนม.ค. และสถานการณ์ระบาดของโรคใบร่วง จึงทำให้เข้าสู่ฤดูปิดกรีดยางเร็วขึ้นกว่าปีก่อน
ส่วนปริมาณการส่งออกยางของไทยในปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 4.403 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากการใช้ยางในประเทศขยายตัวสูงขึ้น 9.9% หรือมีปริมาณใช้ยางประมาณ 1.040 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยางในปีนี้ยังมีปัจจัยท้าทายอีกมาก อาทิ
1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ปี 66 มีโอกาสที่อาจเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจ จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และเงินเฟ้อ
2. ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานในยุโรป ส่งผลต่อวิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis)
3. ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกมีแนวโน้มสูง เป็นผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐกับจีน และความตึงเครียดทางการค้าในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย รวมถึงสหรัฐฯ จำกัดการส่งออกวงจรรวมและส่วนประกอบ (Semiconductor) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการออกแบบและผลิตไปยังจีน
ขณะที่ปัจจัยที่มองว่าเป็นโอกาส ได้แก่
1. ฤดูกาลและสภาพอากาศ ประเทศจีนเข้าสู่ฤดูหนาว สวนยางในมณฑลยูนนาน และมณฑลไห่หนาน จึงหยุดกรีดยางแล้ว
2. ผลผลิตยางจากอินโดนีเซียลดลง ค่าแรงในสวนยางเพิ่มสูง เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มหันไปปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น
3. จีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระตุ้นความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติ
4. สหรัฐฯ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ตามที่ตลาดคาด ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้น และมีมุมมองต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
6. ค่าระวางเรือเริ่มกลับสู่สภาวะปกติเท่าช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และมีปริมาณตู้สินค้าเพียงพอ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น
7. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9% เพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. เปิดเผยว่า กยท.ได้รับมาตรฐาน FSC-CoC สำหรับการดำเนินงานของหน่วยธุรกิจ และตลาดกลางยางพารา พร้อมรองรับการซื้อขายยางพรีเมียมจากสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีภาคเอกชนหลายแห่งสนับสนุน และมีออเดอร์ยางพรีเมียมในระยะ 1-5 ปี แล้ว
สำหรับการซื้อขายยางพรีเมียมผ่านตลาด กยท. ช่วยให้เกษตรกรที่ทำสวนยางตามมาตรฐานสากลมีตลาดรองรับ ขายยางได้ในราคาสูงกว่ายางทั่วไป ด้านผู้ซื้อจะได้รับยางที่มีคุณภาพและมาตรฐานรับรอง ลดความเสี่ยงของปัญหาในกระบวนการผลิต และเพิ่มคุณภาพของสินค้าที่นำยางไปเป็นวัตถุดิบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.พ. 66)
Tags: กยท., ณกรณ์ ตรรกวิรพัท, ยาง, ยางพารา, ราคายาง, อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์