ZoomIn: Virtual Bank รายใหญ่ลงสนามสู่ฐานราก ชูจุดเด่นบริการปลอดภัย-ไม่สะดุด แย่งเค้ก Non-Bank

กระแส Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าสร้างกระแสฮือฮาให้กับประเทศไทยค่อนข้างมาก หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลางเดือนที่ผ่านมา โดยได้เปิดให้ผู้สนใจยื่นจัดตั้ง Virtual Bank ภายในไตรมาส 1/66 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในกลางปี 68 ซึ่งมีหลาหลายผู้ประกอบการบิ๊กเนมทุนหนาที่สนใจเข้าร่วมแจมลงสนามในครั้งนี้ จากเกณฑ์ทุนจดทะเบียนที่สูงลิ่ว 5 พันล้านบาท

โดยเป็นรายแรกที่เปิดหน้าไพ่แสดงความสนใจ คือ KTB ที่ควง GULF และ ADVANC หรือ AIS ร่วมวง รายต่อมาถึงคราวพ่อค้ามือถือเจ้าใหญ่ในตลาดที่แตกลูกหลานเข้าตลาดหุ้น คือ JMART จูงมือพันธมิตรกลุ่มการเงินชั้นนำจากเกาหลีใต้ KB Financial Group เข้าร่วมชิงไลเซ่นส์ และยังมีผู้เล่นบิ๊กเนมกลุ่มแบงก์เจ้าอื่นที่สนใจศึกษา ทั้ง KBANK, SCB, BBL และ BAY รวมถึงกลุ่มธุรกิจการเงินในเครือซีพีที่มี Truemoney เป็นหัวจักรสำคัญ เกี้ยว Alibaba เข้าร่วม ไม่เว้นกลุ่ม BTS ที่มี RABBIT ในมือมองหาพันธมิตรลงสนามด้วยเช่นกัน

การมาของ Virtual Bank ในครั้งนี้ธุรกิจใดจะมีผลกระทบบ้าง แนวโน้มการแข่งขันจะเป็นอย่างไร?

ผลกระทบของ Virtual Bank

นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย มองว่า Virtual Bank เป็นการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มของผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของแบงก์ (Unbanked Population) ที่ยังมีอยู่ค่อนข้างมาก โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างบริการใหม่ๆ ให้ลงลึกประชาชนในระดับฐานราก แม้ว่าปัจจุบันแบงก์จะมีบริการ Digital Lending ผ่าน Mobile Banking หรือกลุ่ม Fintech ต่างๆที่บริการสินเชื่อ Digital Lending แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้หมด

ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริหารแบงก์พาณิชย์ได้ ก็จะอยู่กับ Non-Bank ดังนั้น การมาของ Virtual Bank จะเข้ามาแบ่งแชร์ฐานลูกค้ากลุ่ม Non-Bank ไป เพราะ Virtual Bank จะเป็นผู้เล่นที่สามารถแข่งขันดอกเบี้ยได้ดีกว่า เนื่องจากมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำกว่า เป็นแรงดึงดูดกลุ่มลูกค้าหลักของ Non-Bank ไปใช้บริการจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกกว่า ส่งผลให้ธุรกิจ Non-Bank ต้องมีการปรับตัว ซึ่งยังมีเวลาอีก 3 ปีในการปรับตัวหาแนวทางในการทำธุรกิจที่สามารถรักษาฐานลูกค้าหรือขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มใหม่ๆได้

แนวโน้มการแข่งขันของ Virtual Bank

การแข่งขันของ Virtual Bank ในด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มองว่าคงไม่รุนแรงมาก เพราะทาง ธปท.ตั้งเป้าหมายที่จะให้ไลเซ่นส์ Virtual Bank เฟสแรกแค่ไม่เกิน 3 ราย ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยน่าจะใกล้เคียงกัน การแข่งขันช่วงแรกน่าจะโฟกัสไปที่การให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงเพื่อดึงฐานลูกค้าเข้ามา เช่นเดียวกับวิธีที่ Virtual Bank ในต่างประเทศทำในช่วงแรก ทั้งใน จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ และบราซิล ซึ่งให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงและเป็นแบบขั้นบันได เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังผลกระทบด้านต้นทุนทางการเงิน (Cost of fund) ของธุรกิจ Virtual Bank ที่จะมีผลในระยะยาวได้

ปัจจัยเสริมต่อการทำธุรกิจ Virtual Bank

นอกจากการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากแล้ว สิ่งที่ Virtual Bank ต้องพัฒนาและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง คือ งานบริการบนระบบดิจิทัลเพื่อให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และบริการไม่สะดุด ซึ่งคุณภาพของระบบให้บริการถือเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมกันนั้นยังต้องดูแลในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ถือเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงไปที่การเข้าถึงข้อมูลลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อและประเมินความเสี่ยงลูกค้า มองว่าการลงทุนในระบบไอทีต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูง เพื่อทำให้ระบบทุกอย่างของธุรกิจ Virtual Bank มีคุณภาพมากที่สุด

ทั้งนี้ การมาของ Virtual Bank ยังคงต้องติดตามเรื่องราวของผู้ประกอบการที่จะยื่นขอไลเซ่นส์อีกต่อไป ซึ่งจะมีผู้ประกอบการใดสนใจเข้ามาร่วมวงในสนามนี้บ้าง และใครจะได้เป็นผู้ถูกคัดเลือกจาก ธปท.เข้าสู่สนามจริง ซึ่งจะทราบกันในกลางปี 67 ก่อนเริ่มธุรกิจในกลางปี 68 โดย Virtual Bank ถือเป็นหนึ่งภายใต้ Financial Landscape ของ ธปท. ที่มีวัตถุประสงค์อยากให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการใช้นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทางการเงินมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top