ผ่านพ้นเดือนแรกของปี 2566 ไปไม่ทันไร โลกต้องหวาดผวาอีกครั้งกับภาพเหตุการณ์ขณะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในตุรกี จนทำให้อาคารแห่งหนึ่งพังถล่มลงมา ประชาชนวิ่งหนีตายท่ามกลางสภาพอากาศอันหนาวเหน็บ แผ่นดินไหวครั้งนี้ขนาด 7.8 แมกนิจูด เขย่าพื้นที่ในช่วงที่ประชาชนกำลังหลับพักผ่อน ซึ่งตามมาด้วยแผ่นดินไหวรุนแรงอีกลูกในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง รวมถึงอาฟเตอร์ช็อกอีกนับไม่ถ้วน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,800 รายเมื่อนับจนถึงวันที่ 7 ก.พ.
In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านมาจับตาสถานการณ์ล่าสุด พร้อมเจาะลึกสาเหตุ ความเสียหาย และผลกระทบจากวิกฤตแผ่นดินไหวครั้งนี้ที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
แผ่นดินไหวมรณะถล่มตุรกี-ซีเรีย
“ตอนนี้เราต้องแข่งกับเวลา ทุกนาที ทุกชั่วโมงที่ผ่านไป โอกาสในการพบผู้รอดชีวิตก็ลดน้อยลง” นี้คือถ้อยแถลงของนายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยให้เห็นถึงสถานการณ์วิกฤตที่ตึงเครียด หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดเออร์ซินจานทางตะวันออกของตุรกีเมื่อปี 2482 ซึ่งคร่าชีวิตประชาชนมากกว่า 33,000 ราย
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.พ. ศูนย์วิจัยธรณีศาสตร์เยอรมนี (GFZ) รายงานว่า ตุรกีเผชิญแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.8 แมกนิจูด เมื่อเวลา 04.17 น.ตามเวลาท้องถิ่นในพื้นที่ตอนกลางของตุรกี โดยอยู่ห่างจากเมืองกาซีอันเตป ทางตะวันตกของตุรกี ประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากตอนเหนือของเมืองอะเลปโปของซีเรียประมาณ 114 กิโลเมตร
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้เพียง 11 นาที สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ (USGS) ระบุว่า เกิดอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.7 แมกนิจูดตามมาทันที โดยแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวสามารถรับรู้ได้ไกลถึงประเทศเลบานอน ไซปรัส อิรัก อียิปต์ และอิสราเอล
ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง ขณะเจ้าหน้าที่กู้ภัยปฏิบัติภารกิจค้นหาผู้ประสบภัย ตุรกีเผชิญแผ่นดินไหวลูกที่ 2 ที่มีขนาด 7.5 แมกนิจูด เมื่อเวลา 13.24 น. ตามเวลาท้องถิ่น ทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กม. ของจุดเกิดแผ่นดินไหวแรก
ผลกระทบของแผ่นดินไหวที่เลวร้ายนี้ส่งผลให้อาคารสิ่งปลูกสร้างหลายแห่งในตุรกีพังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเรือนหมื่น ประชาชนนับไม่ถ้วนติดอยู่ใต้ซากอาคารที่พักอาศัย อีกทั้ง ยังทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาด ถนนหลายสายได้รับความเสียหาย ผู้คนในตุรกีและทางตอนเหนือของซีเรียต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ
ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งต่อเนื่อง
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของภูมิภาคแห่งนี้ ยอดผู้เสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อนับจนถึงวันที่ 7 ก.พ. พบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,800 รายในตุรกีและซีเรีย และคาดว่าจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกีอาจพุ่งขึ้นมากกว่า 20,000 ราย นางแคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสของ WHO ฝ่ายให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินภูมิภาคยุโรประบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตขั้นสุดท้ายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวอาจสูงกว่า 8 เท่าจากตัวเลขที่มีการรายงานในเบื้องต้น
ดังนั้น หากตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวถูกต้อง จะทำให้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ตุรกีในครั้งนี้เป็นภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มญี่ปุ่นในปี 2554
เหยื่อเสี่ยงตายจากภัยหนาว
ภารกิจกู้ภัยหลังเหตุแผ่นดินไหวเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวจัดปกคลุมพื้นที่และได้ขัดขวางความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือเหยื่อจากเหตุแผ่นดินไหว
ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า สถานการณ์ที่ตุรกีและซีเรียไม่ค่อยสู้ดีนัก ยอดผู้รอดชีวิตอาจลดลง เนื่องจากสภาพอากาศได้ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นสำหรับคนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังหรือถูกทิ้งไว้โดยไร้ที่อยู่อาศัย
โรเจอร์ มัสสัน นักวิจัยกิตติมศักดิ์ของกรมสำรวจธรณีวิทยาของอังกฤษที่แสดงความเห็นที่สอดคล้องกันว่า สภาพอากาศที่หนาวเหน็บอาจทำให้ผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารมีโอกาสรอดชีวิตน้อยลง
แม้ต้นเดือนก.พ. ภูมิภาคนี้จะอยู่ในช่วงที่หนาวที่สุดของปีอยู่แล้ว อุณหภูมิปัจจุบันนั้นเย็นกว่าค่าเฉลี่ยลงไปอีก โดยเย็นกว่าเกณฑ์ปกติตามฤดูกาลประมาณ 5 องศาเซลเซียส ทั้งยังมีแนวโน้มสูงที่อากาศจะเย็นลงอีก อุณหภูมิในบางพื้นที่คาดว่าจะลดลงจนเกือบถึงจุดเยือกแข็งในตอนกลางคืน
ระดับความรุนแรง
ในแต่ละปี โลกจะเผชิญเหตุแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงมากกว่า 7.0 แมกนิจูด น้อยกว่า 20 ครั้งโดยเฉลี่ย ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นับว่าเป็นภัยพิบัติระดับขั้นรุนแรง
โจอันนา วอล์คเกอร์ หัวหน้าสถาบันลดความเสี่ยงและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่า เมื่อเทียบกับแผ่นดินไหวขนาด 6.2 แมกนิจูดที่เกิดขึ้นทางตอนกลางของอิตาลีเมื่อปี 2559 และคร่าชีวิตผู้คนราว 300 คน แผ่นดินไหวในตุรกี-ซีเรียปล่อยพลังงานออกมามากกว่าถึง 250 เท่า
ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 เกิดเหตุแผ่นดินไหวเพียง 2 ครั้งที่มีขนาดความรุนแรงใกล้เคียงกับแผ่นดินไหวระลอกนี้ นั่นคือ แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งของญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 ซึ่งมีขนาดความรุนแรงระดับ 9 แมกนิจูด และสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างอีกทั้งยังก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ จนนำไปสู่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตามแนวชายฝั่ง
ตุรกี-ซีเรีย พื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว
ตุรกีเป็นประเทศที่สามารถเกิดแผ่นดินไหวได้ง่าย ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ตุรกีเผชิญแผ่นดินไหวแมกนิจูด 7.0 ขึ้นไปถึง 7 ครั้ง เนื่องจากประเทศตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียน (Anatolian Plate) ดังนั้น หากมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ก็เสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวตามปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
แผ่นเปลือกโลกอนาโตเลียนอยู่ติดกับรอยเลื่อนที่สำคัญ 2 แห่ง ได้แก่ รอยเลื่อนอนาโตเลียเหนือ (North Anatolian Fault) ซึ่งทอดตัวจากตุรกีตะวันตกไปตะวันออก และรอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก (East Anatolian Fault) ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ รวมถึงอยู่ใกล้กับแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แอฟริกา และอาระเบีย
เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรกีและซีเรียครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณรอยเลื่อนอนาโตเลียตะวันออก จากการเสียดสีกันระหว่างแผ่นเปลือกโลกอนาโตเลีย กับแผ่นเปลือกโลกอาระเบีย และเกิดขึ้นในชั้นดินที่ถือว่าไม่ลึกมากนัก
เดวิด โรเธอรี นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอเพ่น ยูนิเวอร์ซิตี้ของอังกฤษกล่าวว่า แรงสั่นสะเทือนบนพื้นดินอาจรุนแรงกว่านี้ หากแผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในชั้นดินที่ลึกกว่า
ถล่มพื้นที่ชุมชน
สาเหตุสำคัญที่แผ่นดินไหวครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก เป็นผลมาจากการเกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ใกล้เมืองกาซีอันเตป หนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมและการผลิตที่สำคัญของตุรกี และมีพรมแดนติดกับซีเรีย
สิ่งที่แย่ไปกว่านั้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาเช้ามืดของตุรกีและซีเรีย ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังนอนหลับอยู่ในบ้านเรือนหรืออาคารที่พักอาศัยของตน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่สามารถหนีออกมาในที่โล่งได้ทันขณะเกิดเหตุ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากการถูกอาคารถล่มทับ
ที่ผ่านมา แผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงใกล้เคียงและเกิดในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น มักคร่าชีวิตผู้คนหลายพันคน เช่น แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดที่เนปาลในปี 2558 ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตสูงเกือบ 9,000 ราย
โครงสร้างพื้นฐานไม่ดี
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญมาจากโครงสร้างพื้นฐานที่เปราะบาง ขณะที่อาคารใหม่ในเมืองต่าง ๆ เช่น อิสตันบูล ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงมาตรฐานแผ่นดินไหว แต่อาคารในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศกลับเป็นอาคารสูงเก่าแก่และมีโครงสร้างไม่แข็งแรง
ทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.พ. อาคารหลายพันหลังพังทลายลงเป็นจำนวนมากในลักษณะเหมือนแพนเค้ก ชั้นบนของอาคารพังทับลงมาโดยตรงสู่ชั้นล่าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอาคารไม่สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้เลย
คิชอร์ ไจสวาล วิศวกรโครงสร้างของ USGS ระบุว่า ประชากรในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบล้วนอาศัยอยู่ในอาคารที่มีความเสี่ยงต่อแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ผนวกกับการก่อสร้างอาคารอย่างรวดเร็วในซีเรีย ขณะเกิดสงครามยาวนานหลายปี อาจทำให้โครงสร้างต่าง ๆ เปราะบาง
ไอลัน เคลแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนแสดงความเห็นว่า นี่เป็นระดับความหายนะและความเสียหายที่เรามักจะได้เห็น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่รุนแรงในบริเวณที่มีอาคารที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรง
ความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ตุรกีกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่พรรครัฐบาลของประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ก้าวขึ้นสู่อำนาจในปี 2545 เหตุการณ์แผ่นดินไหวนี้ยิ่งมาซ้ำเติมวิกฤตในตุรกี ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อปีต่อปีที่มากกว่า 80% และเงินลีราร่วงลง 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ในปีที่แล้ว
บทวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ระบุว่า การใช้จ่ายภาครัฐสำหรับภัยพิบัติ หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว รวมถึงความพยายามในการฟื้นฟูอาจแตะ 5.5% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โครงการเงินกู้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอาจเกินเป้าหมายงบประมาณของรัฐ
นายเออร์โดกันระบุว่า รัฐบาลได้จัดสรรทรัพยากรเบื้องต้นแล้วจำนวน 100 พันล้านลีรา (5.3 พันล้านดอลลาร์) ให้กับพื้นที่ภัยพิบัติ
ขณะที่ USGS ประเมินว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ระหว่าง 1 พันล้านดอลลาร์ถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจสูงถึง 2% ของ GDP ของตุรกี โดยระบุว่า มีโอกาสถึง 78% ที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์
สตีฟ โบเวน หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริษัทนายหน้าประกันภัยกัลลาเกอร์ระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ในภูมิภาคเดียวกันเมื่อเดือนม.ค. 2563 มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 600 ล้านดอลลาร์
ตุรกีประกาศภาวะฉุกเฉิน 3 เดือน ไว้อาลัย 7 วัน
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกี ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือนใน 10 จังหวัดซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่รัฐบาลพยายามดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มที่เพื่อค้นหาผู้รอดชีวิต
นอกจากนี้ รัฐบาลตุรกียังได้ประกาศไว้อาลัยเป็นเวลา 7 วันให้แก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว และให้ลดธงครึ่งเสาทั่วประเทศ รวมถึงในที่ทำการของสถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศด้วย
ขณะเดียวกัน องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ประกาศลดธงของประเทศสมาชิกลงครึ่งเสาที่สำนักงานใหญ่ของนาโต หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกของนาโต
นานาชาติร่วมใจ บรรเทาทุกข์ภัย
หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว นานาประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมใจเสนอให้ความช่วยเหลือแก่ตุรกี เริ่มที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐประจำทำเนียบขาวระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า “ผมได้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตุรกีเพื่อแจ้งว่าสหรัฐพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อตุรกี”
ขณะเดียวกัน นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลินเสนอให้ความช่วยเหลือตุรกีอย่างเต็มที่ โดยระบุว่า “รัสเซียมีเทคโนโลยีและมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ตุรกี หากได้รับการร้องขอ โดยขึ้นอยู่กับความจำเป็นของตุรกี”
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) เปิดเผยว่า สมาชิก EU ทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้ส่งทีมค้นหาและกู้ภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือในเหตุแผ่นดินไหวได้แก่ บัลแกเรีย โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก ฝรั่งเศส กรีซ ฮังการี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ และโรมาเนีย
ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปได้เสนอความช่วยเหลือด้านข้อมูลโลจิสติกส์ ความเชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว และอุปกรณ์ ตลอดจนจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้พลัดถิ่นจากภัยพิบัติ
จนถึงขณะนี้ แม้ยังไม่รู้ว่ายอดความเสียหายสุดท้ายของเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้จะอยู่ที่เท่าใด เราก็ขอให้ตุรกีและซีเรียสามารถก้าวข้ามภัยพิบัตินี้ และกลับมาบูรณะประเทศได้โดยเร็วที่สุด และหวังว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นจะเป็นบทเรียนสำคัญที่ช่วยให้ประชาคมโลกสามารถนำไปปรับใช้เพื่อรับมือกับธรณีพิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 66)
Tags: SCOOP, WHO, ซีเรีย, ตุรกี, องค์การอนามัยโลก, แผ่นดินไหว