ปิดเกมแก้รธน.ตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ หลังสภาสูงไม่เข้าร่วมโหวต

ที่ประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี มีอันต้องล่มไปเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ภายหลังองค์ประชุมไม่ครบ ด้านประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อ ส.ว. จงใจไม่เข้าประชุม เพราะเป็นกฎหมายที่กระทบอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ

ในการประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเพิ่มให้บุคคลที่สภาผู้แทนราษฎรจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ได้ และยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยอำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่สามารถเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ

หลังประธานใช้เวลารอสมาชิกนานกว่าครึ่งชั่วโมง แต่ปรากฎว่า มีผู้มาแสดงตนเพียง 308 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 333 คน ประธานในที่ประชุม จึงสั่งปิดการประชุม ในเวลา 12:02 น. ซึ่งวันนี้ มี ส.ส. ลาประชุม 15 คน ส่วนส.ว. ลาประชุม 95 คน

โดยนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งเปิดประชุม เมื่อเวลา 11.10 น. หลังจากมีสมาชิกรัฐสภา 665 คน แต่ขณะนั้นพบว่ามี ส.ว. ลงชื่อจำนวน 52 คน จากจำนวน ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 249 คน

รายงานข่าว แจ้งว่า ก่อนการเปิดประชุม พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ได้แจ้งกับ ส.ว. ให้งดการลงชื่อเข้าร่วมประชุมจนกว่าจะเปิดประชุมได้ และเมื่อประธานเปิดการประชุมได้แล้ว ให้มาลงชื่อ ทำให้ปรากฎจำนวน ส.ว.ที่มาลงชื่อก่อนเปิดประชุมเพียง 52 คน และหลังเปิดประชุมจนปิดการประชุม มี ส.ว. มาลงชื่อร่วมประชุม 110 คน

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นที่น่าเสียดาย และน่าเสียใจ เพราะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศ คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ อยากตั้งข้อสังเกตว่าที่สภาล่มในวันนี้ เป็นความพยายามของ ส.ว.ที่จะทำให้สภาล่ม ซึ่งได้มีความพยายามมาแล้วและมาสำเร็จในครั้งนี้ โดยส.ว.ลงชื่อน้อยมาก และอยู่ร่วมประชุมน้อยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งประธานได้รอจนถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงมองเป็นเจตนาอื่นไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการแก้ไขที่กระทบกับอำนาจของ ส.ว. ซึ่งสังคมจะได้เห็นว่า ส.ว. มีวุฒิภาวะที่สมควรหรือไม่

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.พ. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top