น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด จากกระทรวงยุติธรรม โดยได้สรุปผลการดำเนินการตามมาตรการ รวม 4 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน
1.1 การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เช่น เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ ออกหนังสือรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดหรือนายจ้าง และตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขออนุญาตนั้น กระทรวงมหาดไทย ได้หารือกับกรมสุขภาพจิต และ รพ.สมเด็จเจ้าพระยา ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติดของผู้ยื่นขอใบอนุญาต และได้ศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 เพื่อเพิ่มอำนาจให้นายทะเบียนท้องที่ออกคำสั่งให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการตรวจสุขภาพจิตและหาสารเสพติด และตรวจสอบประวัติอาชญาก รและการรับรองความประพฤติของผู้ขออนุญาตทุกราย
1.2 กำชับนายทะเบียนท้องที่ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ยื่นคำขออนุญาต ทั้งก่อนและหลังการออกใบอนุญาต และซักซ้อมแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแนวทางการอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวภายในเขตจังหวัด
1.3 เชื่อมโยงฐานข้อมูล โดยกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติสิทธิให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ส่วนกลาง) สามารถเข้าระบบเพื่อตรวจดูข้อมูลทะเบียนอาวุธปืน และอยู่ระหว่างหารือด้านเทคนิคการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน
1.4 กระทรวงมหาดไทย ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … และอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นในระบบกฎหมายกลาง เพื่อจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต
1.5 การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลประวัติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน และสืบสวน ปราบปราม ตรวจค้นแหล่งค้า/ผลิตอาวุธปืนผิดกฎหมาย ทั้งนี้ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนและวัตถุระเบิด (ช่วง 1 ต.ค. – 15 ธ.ค.65) รวม 29,464 คดี ผู้ต้องหา 27,637 ราย
1.6 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการมาตรการทางดิจิทัล เช่น การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และเครือข่ายสังคมออนไลน์ และการป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมในการปิดกั้นแพลตฟอร์ม หากมีข้อมูลบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอันเกี่ยวเนื่องกับอาวุธปืนและยาเสพติด
2. มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
2.1 การควบคุมสารเคมีที่นำไปใช้ผลิตยาเสพติด เช่น ระงับการส่งออก และชะลอการนำเข้าวัตถุอันตรายบางรายการชั่วคราว ยึดและอายัดวัตถุอันตราย ที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติด โดยอายัดสารโซเดียมไซยาไนด์ 220 ตัน หากนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสารตั้งต้นจะสามารถนำไปใช้ในการผลิตยาบ้า 4,840 ล้านเม็ด
2.2 การทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดอายัดทรัพย์สิน เช่น ดำเนินการสืบสวนและขยายผลเพื่อทำลายเครือข่ายการค้ายาเสพติดโดยได้จัดทำรายงานข่าวสารยาเสพติดของเครือข่าย 739 ฉบับและรายงานเป้าหมายบุคคลในเครือข่าย 1,098 คน และสามารถอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 11,280 ล้านบาท (ช่วง 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 65)
2.3 การติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด สามารถดำเนินการเร่งรัดติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติดได้ 88 หมายจับ โดยกระทรวงกลาโหม ได้เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า-ส่งออกบริเวณชายแดน ทำให้สกัดกั้นจับกุมยาเสพติด ได้แก่ ยาบ้า 12.29 ล้านเม็ด เฮโรอีน 11 กิโลกรัม ยาไอซ์ 586,956.75 กรัม และยาอี 15,000 เม็ด (ช่วง 1 ต.ค. – 26 ธ.ค. 65) และได้ปราบปรามยาเสพติด โดยในเดือนพ.ย.65 สามารถจับกุม/ตรวจยึดยาเสพติด ผู้ต้องหา 18 คน ยาบ้า 11.93 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 435.1 กิโลกรัม และเคตามีน 9.9 กิโลกรัม
2.4 การทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เพื่อค้นหาผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย โดยได้หารือร่วมกันในการบูรณาการฐานข้อมูลผู้เสพ ผู้ติด ผู้มีอาการทางจิตเวช จัดตั้งฐานข้อมูลด้านยาเสพติดที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ Re X-ray ผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ผู้มีอาการทางจิตเวช 158,333 ราย โดยผู้ใช้ ผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบำบัด 106,937 ราย ผู้มีอาการทางจิตเวชที่มีสาเหตุจากยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด 25,586 ราย (ช่วง 1 ต.ค. – 20 ธ.ค. 65)
2.5 การตรวจสอบและติดตามข้อร้องเรียนของประชาชน มีการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชนผ่านสายด่วน 1386 มีการรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 5,016 เรื่อง ดำเนินการแล้ว 2,256 เรื่อง และดำเนินการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุมนักค้ายาเสพติดในพื้นที่ 330 หมู่บ้าน/ชุมชน (ช่วง 1 ต.ค. – 31 ธ.ค. 65)
3. มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด มีระบบบูรณาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่าย 30 จังหวัดในพื้นที่ต้นแบบ เพื่อลดอัตราการกลับมาเสพซ้ำและไม่ก่อความรุนแรง และเร่งรัดสำรวจศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบล โดยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองแล้ว จำนวน 9,473 แห่ง
รวมถึงเร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการมีส่วนร่วมของครอบครัวแล้ว 659 ชุมชน และจัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชในโรงพยาบาลชุมชน 439 แห่ง รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูผู้ติดยา และยื่นขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคลุมทุกจังหวัดถึงระดับตำบล
4. มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เช่น จัดทำแนวปฏิบัติในการขอรับการตรวจประเมินปัญหาสุขภาพจิตสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดทุกโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ให้ครอบคลุม 65 จังหวัด ใน 12 เขตสุขภาพ 97 แห่ง จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชนให้ครบทุกแห่ง โดยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนแล้ว 1,080 แห่ง และสนับสนุนให้สภาเด็กและเยาวชน เป็นกลไกอบรมเพื่อป้องกันยาเสพติดใน 603 กิจกรรม จำนวน 37,620 คนทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 66)
Tags: กระทรวงยุติธรรม, ครม., ทิพานัน ศิริชนะ, ประชุมครม., มติคณะรัฐมนตรี, ยาเสพติด, อาวุธปืน