ม.หอการค้าไทย เผยผลโพลวาเลนไทน์ ปี 66 คึกคัก คาดเม็ดเงินสะพัดเกือบ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% จากปี 65 โดยมูลค่าการใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ย 1,848 บาท สูงสุดในรอบ 4 ปีนับตั้งแต่ปี 63
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ ปี 2566 โดยคาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% โดยบรรยากาศคึกคักสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19
โดยเมื่อถามถึงความหมายของคำว่าความรัก โดยแยกตามรุ่น หรือ Generation (Gen) จะพบว่า
Gen X ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือการร่วมทุกข์ร่วมสุข
Gen Y ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือความสุข เช่นเดียวกัน
Gen Z ที่ส่วนใหญ่ตอบว่า ความรักคือความสุข
สำหรับการไปฉลองวาเลนไทน์ปีนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 49.2% ต้องการจะไปฉลองวาเลนไทน์กับคนรัก หรือคนรู้ใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 50.8% ตอบว่าไม่ไปฉลอง โดยสถานที่ที่ต้องการไปฉลองวาเลนไทน์มากสุด คือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมา คือ คาเฟ่ และร้านอาหาร ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการเลือกซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก คือ ความชอบของผู้รับ รองลงมา คือ ความสะดวก, ประโยชน์, ความนิยม และราคา
ส่วนบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% มองว่าเหมือนเดิม ขณะที่ 29.1% มองว่าคึกคึกกว่าเดิม เพราะมีสถานที่เที่ยวมากขึ้น, คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และผู้ปกครองไม่อยู่ ส่วนอีก 22.8% มองว่าคึกคักน้อยกว่าเดิม เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น, เศรษฐกิจแย่ลง และตกงาน
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย เฉพาะการซื้อของมอบให้กับคู่รัก เมื่อจำแนกตาม Gen จะพบว่า Gen X มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,666 บาท/คน Gen Y มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,251 บาท/คน และ Gen Z มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 823 บาท/คน โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายเฉพาะการซื้อของมอบให้คนรัก 1,100 บาท/คน
แต่หากเป็นค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงวันวาเลนไทน์ เมื่อจำแนกตาม Gen จะพบว่า Gen X มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,130 บาท/คน Gen Y มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,643 บาท/คน และ Gen Z มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,812 บาท/คน โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงวาเลนไทน์ 1,848 บาท/คน
เมื่อถามถึงเหตุผลในการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ เทียบกับปี 2565 กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น เพราะสินค้า-บริการแพงขึ้น รองลงมา คือ ค่าครองชีพสูงขึ้น และความต้องการสินค้ามีมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่ามีการใช้จ่ายลดลง เพราะรายได้ลดน้อยลง รองลงมา คือ ประหยัดการใช้จ่าย และสินค้าแพงขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี
ส่วนความคิดเห็นว่าคู่รักในกลุ่มใดที่จะฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์ พบว่า ทุก Gen เห็นว่าจะมีมากที่สุด ในกลุ่มของนักศึกษา 35.7% รองลงมา คือ กลุ่มวัยทำงาน 33.8% และนักเรียน 30.6% ตามลำดับ โดยสถานที่ที่คาดว่าจะใช้ฉลองวาเลนไทน์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์มากที่สุด คือ หอพัก หรืออพาร์ตเมนท์ และเมื่อถามถึงการยอมรับได้หรือไม่ หากภรรยา/สามี ของท่านเคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานกับท่าน พบว่าส่วนใหญ่ทุก Gen ตอบว่า ยอมรับได้ถึง 70.5% ส่วนที่ยอมรับไม่ได้ มี 29.5%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจพบว่า บรรยากาศการฉลองวาเลนไทน์ปีนี้ถือว่าคึกคัก แต่อาจจะไม่คึกคักเต็มที่ เนื่องจากวันที่ 14 ก.พ.ปีนี้ ตรงกับวันอังคาร ซึ่งเป็นวันธรรมดา ไม่ใช่ช่วงวันหยุด โดยภาพรวมบรรยากาศการใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ปีนี้ คาดว่าเม็ดเงินจะสะพัดมากกว่าในปีที่ผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงสุดในรอบ 4 ปี อย่างไรก็ดี ยังไม่รวมเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาฉลองวาเลนไทน์ในประเทศไทย
“วาเลนไทน์ปีนี้ ถือว่าคึกคักในระดับหนึ่ง และมากกว่าปี 65 แต่คึกคักได้ไม่เต็มที่ เพราะตรงกับวันอังคาร ทำให้โดนกลบไปด้วยบรรยากาศของวันธรรมดาที่เป็นต้นสัปดาห์ แต่เราคาดว่าวาเลนไทน์ปีหน้า (2567) จะคึกคักมากกว่านี้ เพราะดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.พ. 66)
Tags: ผลสำรวจ, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, วาเลนไทน์, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ