นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มอบนโยบายให้แก่กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ระหว่างการประชุมประจำปี 2566 ในการส่งเสริมการออมภาคประชาชนว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า คือ มีสัดส่วนของประชากรสูงอายุมากกว่า 20% และในปี 2577 จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากถึง 28% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยดังกล่าว จะส่งผลให้มีประชากรที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ดังนั้น ประชาชนทุกคน จึงควรมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการออมเงินระยะยาวให้เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายตลอดช่วงวัยเกษียณ
การออมเพื่อการเกษียณ จัดเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยได้มีนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐในการพัฒนาระบบการออมให้มีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และบรรจุไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)
สำหรับแรงงานในระบบ มีการออมเงินภาคบังคับตามกฎหมาย ผ่านกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ขณะที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ จะมีระบบการออมภาคสมัครใจรองรับ โดยสามารถส่งเงินออมผ่านกอช. หรือกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม
“ปัจจุบัน ยังมีแรงงานนอกระบบอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการออมเพื่อการเกษียณ ดังนั้นการส่งเสริมให้ประชาชนที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีการออมเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ จึงเป็นภารกิจที่ต้องเร่งผลักดัน” รมว.คลัง กล่าว
ซึ่งล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มเพดานเงินสะสมของสมาชิกจาก 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้สมาชิกส่งเงินออมได้มากขึ้น และปรับเพิ่มเพดานเงินสมทบของรัฐบาลจากเดิม 600 – 1,200 บาทต่อปี ตามช่วงอายุของสมาชิก เป็น 1,800 บาทต่อปีทุกช่วงอายุของสมาชิก เพื่อจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิก และสมาชิกทุกช่วงอายุมีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนเงินสะสมและเงินสมทบที่สูงขึ้น จะทำให้สมาชิก กอช. มีเงินบำนาญเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างความมั่นคงในอนาคตให้มีเงินเพียงพอในการดำรงชีพยามชราภาพ
น.ส.จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ กอช. กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ กอช. จะดำเนินการขับเคลื่อนสร้างความรู้การวางแผนทางการเงิน และสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิก กอช. ใน 6 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด ให้กับหน่วยงานในแต่ละจังหวัดได้สร้างความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับ กอช. ในการถ่ายทอดความรู้ได้อย่างถูกต้องต่อไป
พร้อมกันนี้ กอช. มีแผนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ใน 5 ด้าน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าของการออมผ่าน กอช. โดยมุ่งส่งเสริมภาพลักษณ์ของ กอช. ให้เป็นที่รู้จักของประชาชน รวมทั้งจัดให้มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกและเชิงรับ เพื่อสนับสนุนพันธกิจของ กอช. และเสริมสร้างค่านิยมสังคมการออม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการตลาดให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่สมาชิก (Customer Centric) โดยมุ่งเพิ่มยอดสมาชิกใหม่กระตุ้นการออมสมาชิกเก่าและสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิกจากการรับบริการจาก กอช.
ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง โดยปรับปรุงกฎหมายและการบริหารเงินทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของสมาชิกและสร้างโอกาส ความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการสมาชิกและเพิ่มผลิตภาพขององค์กร โดยเตรียมความพร้อมของเทคโนโลยีและฐานข้อมูลภายในองค์กร เพื่อสนับสนุนการพัฒนาไปสู่องค์กรดิจิทัล
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ยกระดับขีดความสามารถการบริหารจัดการภายในองค์กร โดยการพัฒนาองค์กรทั้งในเชิงโครงสร้าง การบริหารจัดการ การส่งเสริมสมรรถนะภายในองค์กร รวมทั้งความสามารถรองรับการบริการในสภาวะวิกฤต ภายใต้การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.พ. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, กองทุนการออมแห่งชาติ, กอช., การออมเพื่อการเกษียณ, จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ, วัยเกษียณ, ออมเงิน, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ