บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) เปิดโอกาสการลงทุนครั้งใหม่ในตลาดตราสารหนี้สหรัฐอเมริกา เสนอขาย “กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ยูเอส แอกกริเกท บอนด์ ฟันด์” (MUBOND) ลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพสูงในประเทศสหรัฐอเมริกา ในจังหวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อม IPO 6 – 14 กุมภาพันธ์ นี้
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวถึงโอกาสการลงทุนในกองทุน MUBOND ว่า ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและเกิดปัญหาอุปทานตึงตัวที่เริ่มผ่อนคลาย สิ่งที่ตามมา คือ เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง การลงทุนใน US High Quality Fixed Income หรือตราสารหนี้สหรัฐที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากมีคุณภาพเครดิตสูง และให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจ
ในเดือนธันวาคมปี 2565 ที่ผ่านมา มีสัญญาณของอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงอยู่ที่ +6.5% YoY ซึ่งมีโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ตลาดตราสารหนี้จะมีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการคัดเลือกหลักทรัพย์แบบ Bottom-Up และสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มากกว่า นอกจากนี้ บลจ.เอ็มเอฟซียังมองว่า โอกาสได้ Upside หากเศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอย ซึ่งจะทำให้ Bond Yield ลดลง และ High Quality Bond มีราคาสูงขึ้นอีกด้วย
กองทุนเปิด MUBOND เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศ ประเภท Feeder Fund มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว คือ JPMorgan Funds-US Aggregate Bond Fund ซึ่งมีนโยบายกระจายการลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐ 4 กลุ่มย่อยที่มีคุณภาพ ได้แก่ US Core, Agency MBS, Securitized Credit และ Corporate Credit ที่มีคุณภาพสูงด้วยเครดิตเรตติ้งเฉลี่ย AA (ณ ธ.ค.65) ซึ่งทำให้กองทุนมีความเสี่ยงเครดิตต่ำ บริหารจัดการโดย JP Morgan Asset Management บริษัทจัดการลงทุนระดับโลกที่มีประสบการณ์ยาวนาน โดยกองทุน MUBOND มีความเสี่ยงอยู่ในระดับ 4
ทั้งนี้ กองทุนรวมมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็น 2 ชนิด ดังนี้ 1.) ชนิดจ่ายเงินปันผล (MUBOND-D) สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ต้องการรับผลตอบแทนจากเงินปันผล และ 2.) ชนิดสะสมมูลค่า (MUBOND-A) สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปที่ต้องการรับรายได้จากส่วนต่างการลงทุน ซึ่งกองทุนจะนำผลประโยชน์จากการลงทุนไปลงทุนต่อ โดยผู้ลงทุนสามารถซื้อขั้นต่ำครั้งแรกและครั้งถัดไปเพียง 1,000 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 66)
Tags: MFC, กองทุนตราสารหนี้, กองทุนรวม, กองทุนเปิดใหม่, ธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์, บลจ.เอ็มเอฟซี