นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ก.พ.นี้ จะเสนอพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มี.ค.66 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งหากเกิดปัญหาสภาล่มเพราะองค์ประชุมไม่ครบก็ไม่ต้องประชุม แต่ไม่ใช่เหตุที่จะยุบสภา เพราะไม่เช่นนั้นการเลือกตั้งจะนับหนึ่งเร็วเกินไปแล้วจะยุ่งกันหมดทุกพรรค และขณะนี้รัฐบาลไม่ได้เสนอกฎหมายใหม่เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว เนื่องจากระยะเวลาที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ
ส่วนกรณีที่มีข่าวนักการเมืองต้องลาออกจากพรรคเดิมไปสังกัดพรรคใหม่ก่อนวันที่ 7 ก.พ.นั้นไม่เป็นความจริง ขออย่าพูดถึงประเด็นนี้เพราะจะทำให้ประชาชนไขว้เขว ตนเชื่อว่าผู้สมัครจะรู้ตัว การนับวันสังกัดพรรคการเมืองจะเริ่มนับจากวันเลือกตั้งไม่ใช่วันที่ยุบสภา เช่น หากกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.66 ซึ่งเป็นกรณีรัฐบาลอยู่ครบวาระ ต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 90 วัน แต่หากกรณียุบสภาจะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วันนับจากวันเลือกตั้ง
“เรื่องการสังกัดพรรคการเมืองไม่ต้องกังวลว่ากี่วัน ใครจะย้ายพรรค ไม่ย้ายพรรค ในใจทุกคนมีอยู่แล้ว เพียงแค่เขาไม่อยากบอกเรา” นายวิษณุ กล่าว
ส่วนการอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 นายวิษณุ เชื่อว่ายังดำเนินการต่อไปได้ และสามารถอภิปรายได้ถึงเที่ยงคืน แต่จะมีการเล่นเกมเรื่ององค์ประชุมหรือไม่ตนไม่ทราบ คำว่ารัฐบาลเล่นเกมคงไม่ได้เล่น ส่วนสมาชิกจะมีใครเล่นเกมหรือไม่ตนไม่ทราบ
“เชื่อว่าการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 จะไม่มีปัญหา ซึ่งรัฐบาลเตรียมพร้อม ถ้าหากจะไม่ครบด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งผมก็ไม่ทราบ ถ้าไม่มีใครขอให้นับองค์ประชุมก็คงไม่มีปัญหา” นายวิษณุ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 66)
Tags: การเมือง, นักการเมือง, ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, พรรคการเมือง, ยุบสภา, วิษณุ เครืองาม, สภาล่ม, อภิปรายทั่วไป