
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป (WHA) ประกาศงัด 5 กลยุทธ์ธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ตั้งเป้ารายได้รวมและส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานปกติ 5 ปี (66-70) ที่ 100,000 ล้านบาท พร้อมอัดฉีดงบลงทุนมูลค่า 6.85 หมื่นล้านบาทใน 5 ปี ขณะที่ยังคงรักษาอัตรากำไร EBITDA สูงกว่า 40% และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (IBD) ต่ำกว่า 1.2 เท่า
ในปี 66 นี้ WHA ประกาศกลยุทธ์ธุรกิจ 5 ข้อ
– รักษาความเป็นที่หนึ่งในประเทศด้วยการครองอันดับหนึ่งในทุกธุรกิจขององค์กร
– เร่งขยายธุรกิจไปต่างประเทศ เน้นเวียดนาม
– ใช้นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า
– สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ โดยเน้นแนวคิดด้านความยั่งยืนเป็นหลัก
– นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาไปสู่องค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ และมุ่งสู่การเป็น Technology Company
นอกจากนี้ ยังริเริ่มภารกิจ “Mission to the Sun” 9 โครงการ เป้าหมายสร้างผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ รวมถึงเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และเสริมสร้างการพัฒนาองค์กร และบุคลากรของบริษัท โดยโครงการที่สำคัญ ได้แก่ Green Logistics, Digital Assets (Metaverse), Digital Health Tech, Circular เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ WHA วางงบลงทุน 6.85 หมื่นล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 66-70) โดยเป็นงบลงทุนสำหรับ 4 กลุ่มธุรกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ได้แก่ โลจิสติกส์ จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท WHAUP จำนวน 1.85 หมื่นล้านบาท และดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จำนวน 4 พันล้านบาท
-ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ตั้งเป้าขยายธุรกิจในไทย และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในเวียดนาม มุ่งเน้นอุตสาหกรรมเติบโตสูง การสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับหุ้นส่วนธุรกิจ นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ และคำนึงถึงความยั่งยืน ส่วนในไทยมีเป้าตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้าในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ได้แก่ กรุงเทพฯ บางนา-ตราด และจังหวัดต่างๆ ในเขตอีอีซี ตลอดจนขยายขอบเขตทางภูมิศาสตร์ไปยังจังหวัดสำคัญ และพื้นที่ใกล้เคียงกับโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
ผลิตภัณฑ์ของดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ มีความหลากหลาย ทั้งอาคารคลังสินค้าแบบ Built-to-Suit คลังสินค้าทั่วไป ไปจนถึงคลังสินค้าขนาดเล็ก ตอบโจทย์ทุกขนาดองค์กร นอกจากนี้ มีแผนสร้างการเติบโต ตั้งเป้าอุตสาหกรรมเติบโตสูง ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า อีคอมเมิร์ซ และเฮลธ์แคร์ ผ่านความร่วมมือกับ Key Player ระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ อาทิ Quantum Computing, Internet of Things (IOT), Data Analytics เป็นต้น
สำหรับธุรกิจ Office Solutions ได้เดินหน้าขยายโครงการอาคารสำนักงานอีกหลายแห่งบนทำเลที่ดีเยี่ยมในกรุงเทพฯ โดยล่าสุด โครงการ WHA KW S25 คาดว่าจะแล้วเสร็จใน ก.ค.66 และเตรียมเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ปัจจุบัน มีโครงการอาคารสำนักงาน 6 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ พื้นที่รวมกว่า 100,000 ตารางเมตร
ในปี 66 คาดว่าจะส่งมอบโครงการใหม่และสัญญาใหม่รวม 200,000 ตารางเมตร (165,000 ตร.ม.ในไทยและ 35,000 ตร.ม. ในเวียดนาม) ให้แก่กลุ่มลูกค้า อาทิ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ (3PL) ภาคสินค้าอุปโภคบริโภค และภาคการค้าปลีก คาดว่าสินทรัพย์รวมภายใต้กรรมสิทธิ์และการบริหารจะสูงถึง 2,900,000 ตารางเมตร
ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอ โลจิสติกส์ ยังได้ตั้งเป้าขายสินทรัพย์พื้นที่ 142,000 ตารางเมตรให้แก่ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ดับบลิวเอชเอ พรีเมี่ยม โกรท (WHART) คาดว่าจะมีมูลค่ารวมประมาณ 3,250 ล้านบาท
– บมจ.ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จะตอกย้ำความเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายธุรกิจในเวียดนามให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเน้นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะเชิงนิเวศขั้นสูง และโครงการอุตสาหกรรมมูลค่าสูง สำหรับประเทศไทยและเวียดนาม มีพื้นที่ในครอบครองทั้งหมด 71,000 ไร่ พื้นที่พร้อมขายกว่า 4,000 ไร่
ปัจจุบัน มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 12 แห่ง รวมถึงนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (1,280 ไร่) ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 65 และยังมีนิคมฯใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ นิคมฯ ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง เฟส 1 (1,100 ไร่) เริ่มก่อสร้าง ต.ค.65 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 (2,400 ไร่) คาดเริ่มก่อสร้างปี 69 นอกจากนี้ ยังขยายนิคมฯอีก 2 โครงการ ได้แก่ นิคมฯดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (570 ไร่) และนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (400 ไร่)
นอกจากนี้ ยังขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น อาทิ การจัดหาก๊าซไนโตรเจนโดย บริษัท บีไอจี ดับบลิวเอชเอ อินดัสเทรียลแก๊ส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ BIG ปัจจุบันให้บริการที่นิคมฯอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) และจะขยายไปยังนิคมฯอื่น ๆ รวมถึงก๊าซอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ด้วย
ทั้งนี้ ในปี 66 บริษัทได้ให้บริการไฟเบอร์ออพติคใต้ดิน (FTTx) ในนิคมฯของ WHA ในไทย 11 แห่ง และให้บริการเช่าเสาโทรคมนาคมเพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับ-กระจายสัญญาณเครือข่าย 5G ในนิคมฯ 3 แห่ง คาดว่าจะขยายให้ครอบคลุมนิคมฯอื่นๆ เพิ่มเติมในปีนี้เพื่อรองรับการใช้งานของกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ได้แก่ AWN, True และ Dtac
สำหรับเวียดนาม มีเขตอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 1 แห่ง และจะขยายไปในจังหวัดหลัก ๆ ของเวียดนาม อีก 2 โครงการ รวมพื้นที่ 20,950 ไร่ (3,350 เฮกตาร์) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเขตอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ โซน 1 – เหงะอาน สร้างเฟส 1 ขนาด 900 ไร่ แล้วเสร็จ และปล่อยเช่าให้แก่ลูกค้าจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ แปรรูปอาหาร วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กว่า 77% แล้ว และด้วยความต้องการที่ดินอุตสาหกรรมสูงบริษัทจึงเร่งก่อสร้างเฟสที่ 2 พื้นที่ขนาด 2,215 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับองค์กรท้องถิ่นของเวียดนามเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมอีก 2 แห่ง อันได้แก่ เขตอุตสาหกรรม WHA Smart Technology Industrial Zone – Thanh Hoa พื้นที่ 5,320 ไร่ ซึ่งจังหวัดทัญฮว้าที่มีประชากรกว่า 3.6 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 ของเวียดนาม จะเริ่มก่อสร้างในปี 67 หรือต้นปี 68 และเขตอุตสาหกรรม WHA Smart Eco Industrial Zone – Quang Nam พื้นที่ 2,500 ไร่ อยู่ใจกลางของภาคกลาง คาดว่าจะได้รับการอนุมัติใบอนุญาตในปี 69 หรือ 70 ก่อนเริ่มก่อสร้าง
จากความสำเร็จของยอดขายที่ดินทั้งในประเทศไทยและเวียดนามในปี 2565 ที่สูงถึง 1,740 ไร่ เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 64 และด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุน บริษัทจึงคาดว่ายอดขายที่ดินในปี 66 ทั้งในไทยและเวียดนามจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ายอดขายที่ดินไว้ที่ 1,750 ไร่
– บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มุ่งต่อยอดธุรกิจสาธารณูปโภคให้เติบโตต่อเนื่องทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมทั้งในไทยและเวียดนาม ชูโซลูชันนวัตกรรมและความยั่งยืน
ในส่วนธุรกิจสาธารณูปโภค WHAUP มุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม ในปี 66 ปริมาณน้ำประปาและการจัดการน้ำเสียทั้งหมดคาดว่าจะสูงถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ใช้อุตสาหกรรมรายใหญ่ ที่เซ็นสัญญาไว้ในปีก่อน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 15 ล้าน ลบ.ม. และจากการที่บริษัทเริ่มดำเนินการโรงผลิตน้ำมูลค่าเพิ่ม 2 แห่งเพื่อจัดส่งน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ของกัลฟ์ 2 ราย และน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) ให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย โดยมีกำลังการผลิตน้ำรวม 4 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
นอกจากนี้ โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 เริ่มดำเนินการแล้ว โดยมีกำลังการผลิตรวม 3.3 ล้าน ลบ.ม./ปี และจะเริ่มก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ที่นิคมฯดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ในเดือน ก.พ.66 โดยมีกำลังการผลิตรวม 5.8 ล้าน ลบ.ม./ปี
WHAUP มีโครงการเพื่อจัดหาน้ำดิบทดแทนเพื่อความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำถึง 2 โครงการ กำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรกมีขึ้นเพื่อรองรับนิคมฯ ดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมฯดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE4) จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/66
ส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคของ WHAUP ในเวียดนาม ให้บริการอยู่ 3 โครงการนั้น มีการเติบโตของการจัดการน้ำประปาและน้ำเสียอย่างมีนัยสำคัญที่ 26% เมื่อเทียบกับปี 65 หรือเท่ากับ 28 ล้าน ลบ.ม. เนื่องมาจากการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่กว้างขึ้น และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้าน ลบ.ม.ในปี 66
ธุรกิจด้านพลังงาน WHAUP มุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในไทย เวียดนาม และสำรวจหาตลาดใหม่ในประเทศอื่นๆ บริษัทฯ มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและความยั่งยืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ กับธุรกิจ New S-Curve อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) ไฮโดรเจน การซื้อขายคาร์บอนและการใช้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS)

ในปี 66 WHAUP ตั้งเป้าสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 847 เมกะวัตต์ เพิ่มจาก 683 เมกะวัตต์ในปี 65 ซึ่งประกอบไปด้วยพลังงานสิ้นเปลือง (Conventional Power) 547 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 133 เมกะวัตต์ และพลังงานจากขยะอุตสาหกรรม (Waste to Energy) อีก 3 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทยังคงเร่งเดินหน้าพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ลงนามแล้ว 300 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 66 อีกด้วย
อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ WHAUP ได้ร่วมกับ ปตท. และ Sertis พัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer Energy Trading โดยมีชื่อว่า Renewable Energy Exchange (“RENEX”) ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำธุรกรรม และอำนวยความสะดวกในการซื้อขายพลังงานของผู้ใช้ในอุตสาหกรรม เปิดตัวในปี 65 และมีลูกค้าชั้นนำกลุ่มแรก 54 ราย ซึ่งอยู่ในนิคมฯ 3 แห่งของ WHA
นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าศึกษาและพัฒนาการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในแพลตฟอร์มดังกล่าวด้วย เบื้องต้นได้ลงทะเบียนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์กับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และ I-REC หรือใบรับรองสีเขียวที่สามารถซื้อขายได้ ซึ่งได้รับการตรวจสอบและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน I-REC
– ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จะยังคงเป็นผู้นำโครงการการทรานสฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัลภายในองค์กร ช่วยสร้างเสริมศักยภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ประสิทธิภาพ การเข้าถึง และความปลอดภัยด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล จะทำงานร่วมกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ของ WHA ในการนำเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและดึงดูดลูกค้ารายใหม่ ตัวอย่างเช่น แดชบอร์ดตรวจสอบแผงพลังงานแสงอาทิตย์และอุปกรณ์ตรวจจับประสิทธิภาพ เครื่องมือวิเคราะห์ ระบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เป็นต้น
ภายหลังจากการเปิดตัวในปี 65 แอปพลิเคชัน WHAbit หรือโซลูชันสำหรับดิจิทัลเฮลธ์แคร์ ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกำหนดเปิดตัวเวอร์ชันที่สองในไตรมาส 2/66 ด้วยฟีเจอร์การแสดงข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) และคำแนะนำส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังวางแผนเปิดตัว Meta W ซึ่งเป็นเมตาเวิร์สด้านอุตสาหกรรมรายแรก นำเสนอ Digital Twin ให้ลูกค้าเข้าไปสัมผัส และมีประสบการณ์เสมือนจริงทั้งในรูปแบบของกิจกรรม การดำเนินงาน โมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ และการตรวจเช็คข้อมูลต่าง ๆ และในอนาคต ดับบลิวเอชเอ ดิจิทัล มีแผนที่จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทเพื่อนำเสนอแก่ลูกค้าทั้งภายในและภายนอกระบบนิเวศของ WHA
“เรามองอนาคตปี 66 ด้วยความมั่นใจในเชิงบวก ในขณะที่ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปกำลังก้าวเข้าใกล้การเป็น Technology Company มากขึ้น เราก็ยังคงส่งเสริมนวัตกรรมต่าง ๆ ให้กับทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ โดยที่ยังเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล”นางสาวจรีพร กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 66)
Tags: WHA, จรีพร จารุกรสกุล, ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป, หุ้นไทย