นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 มีค่าระหว่าง 12-129 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ใน 56 พื้นที่ และระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม นครพนม เชียงใหม่ และลำพูน โดยคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 2-4 ก.พ. 66 ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีแนวโน้มค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิดและนิ่ง รวมทั้งมีการเผาที่โล่ง
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างชัดเจน เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึงอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย
ทั้งนี้ ผลจากการประเมินตนเองของประชาชน ผ่านระบบ 4Health พบว่า ประชาชนที่มีอาการทางด้านสุขภาพจากค่าฝุ่นสูงถึง 70% โดยเฉพาะในเด็กอายุ 5-14 ปี
กรมอนามัย จึงขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง ระหว่างวันที่ 1-4 ก.พ. 66 เป็นพิเศษ โดยการปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้
1. สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51-90 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม
2. สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับโรงเรียน หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่เสี่ยงสูง ควรติดตามรายงานคุณภาพอากาศ และพิจารณาปรับกิจกรรมต่างๆ เช่น งดการเข้าแถวหน้าเสาธง งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง ปิดประตูหน้าต่างในช่วงฝุ่นสูง งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น และเฝ้าระวังอาการเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ หอบหืดเป็นพิเศษ และหากมีอาการผิดปกติ ให้ไปพบแพทย์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 66)
Tags: กรมอนามัย, กระทรวงสาธารณสุข, ฝุ่น, ฝุ่น PM 2.5, ฝุ่นละออง, สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย