บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค เผยผลประกอบการในปี 65 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่า IC อยู่ที่ 55,512 ล้านบาท ลดลง 1.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ EBITDA อยู่ที่ 29,851 ล้านบาท ลดลง 0.5% อัตรากำไร EBITDA (normalized) อยู่ที่ 45.2% ทำให้กำไรสุทธิลดลงมาที่ 3,119 ล้านบาท หรือ ลดลง 7.1% จากปีก่อน
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวว่า ปี 65 ผลการดำเนินงานของดีแทคเริ่มฟื้นตัว แม้ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความท้าทายของเศรษฐกิจระดับมหภาค แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการแข่งขันที่ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง
ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เหล่านี้ ดีแทคยังคงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ในปี 65 เพื่อมอบสัญญาณเครือข่ายที่เชื่อถือได้และให้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นแก่ลูกค้าในปีนี้ ดีแทคยังคงเดินหน้าขยายสถานีฐานของคลื่นย่านความถี่ต่ำเป็นจำนวนกว่า 6,300 สถานีฐานในปีนี้ ส่งผลให้ครอบคลุมพื้นที่การใช้งานภายในอาคารได้ดีขึ้น การใช้งานเร็วขึ้น และการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น จึงทำให้ดีแทค มีคะแนนความพึงพอใจสุทธิ (NPS) ที่ดีขึ้นจากปีก่อน และลดการร้องเรียนที่เกี่ยวกับเครือข่าย ด้วยประสบการณ์การใช้งานของเครือข่ายที่ดีขึ้น ปริมาณการใช้งานทั้ง 4G และ 5G ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 4/65 ดีแทคมีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 106,000 ราย มีผู้ใช้บริการรวมอยู่ที่ 21.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน
นายนกุล เซห์กัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงิน ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคสามารถเพิ่มการเติบโตของรายได้จากการให้บริการระบบเติมเงินได้อย่างแข็งแกร่งติดต่อกันเป็นจำนวน 5 ไตรมาส ตลอดจนสามารถสร้างการเติบโตของรายได้ B2B อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 13 จากปีก่อนจากการขายโซลูชั่นที่ตอบโจทย์มากขึ้นให้กับลูกค้า SME รวมไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลและการสร้างพันธมิตร
การขับเคลื่อนประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้างเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างมูลค่าในการดำเนินงานตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยนอกจากมาตรการในการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว เรายังมีความมุ่งมั่นในการประหยัดกระแสเงินสดจากค่าใช้จ่ายที่อยู่ใต้ EBITDA ในปี 62-65 ช่วยให้ดีแทคสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลงได้ คิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณ 8% ต่อปี ในช่วงปี 62-65 ที่ผ่านมา โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการในปี 65 พร้อมกับการประหยัดกระแสเงินสด
EBITDA สำหรับไตรมาส 4/65 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการมุ่งเน้นกลยุทธ์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีวินัย ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ กำไรสุทธิดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบเชิงบวกประมาณ 450 ล้านบาท จากค่าเสื่อมราคาที่ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงอายุการใช้งานของสินทรัพย์เป็นหลัก
กำไรสุทธิของไตรมาส 4/64 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์เพียงครั้งเดียวประมาณ 430 ล้านบาท รายจ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ 2,180 ล้านบาท และด้วยความคาดหมายว่าการควบรวมกิจการจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 1/66 ฝ่ายบริหารของดีแทคจึงงดให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวโน้มสำหรับปี 66
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.พ. 66)
Tags: DTAC, ชารัด เมห์โรทรา, นกุล เซห์กัล, หุ้นไทย, โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น