นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับบริษัทผู้ที่รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ภายในเดือน ธ.ค.66 หลังจากเปิดให้ผู้สนใจเข้าซื้อเอกสารประกวดราคา และในวันนี้ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดแล้ว ซึ่งการก่อสร้างน่าจะเริ่มได้ในช่วงปี 70 และจะเปิดให้บริการได้ทันการงน Specialised Expo 2028 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.ถึงมิ.ย.71
การประชุมก่อนการยื่นข้อเสนอของเอกชน (Pre-bid Meeting) โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตองจัดขึ้นเพื่อให้เอกชนได้รับทราบข้อมูลรายละเอียดของโครงการอย่างรอบด้าน รวมทั้งเข้าใจรายละเอียดการจัดทำข้อเสนอได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน พร้อมทั้งตอบข้อสงสัย เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเอกชนยื่นซองข้อเสนอต่อไป โดยมีบริษัทเอกชนทั้ง ไทย จีน และฝรั่งเศส สนใจซื้อเอกสารและเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 13 ราย
“เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนเอกชนยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 7 เมษายน 2566 และลงนามสัญญากับภาคเอกชนที่ร่วมลงทุนได้ภายในธันวาคม 2566” นายสุรเชษฐ์ กล่าว
กทพ.ได้นำเสนอความเป็นมาของโครงการฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 ม.ค.65 อนุมัติให้ กทพ.ดำเนินงานโครงการทางพิเศษสายกะทู้–ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ในลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงค่าควบคุมงาน) และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด
ทั้งนี้เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed) โดยแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็น 2 ระยะ ได้แก่
ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน ((Notice to Proceed)
ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานในระยะที่ 1
โดยมีระยะเวลารวม ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่มากกว่า 35 ปี มูลค่าเงินลงทุนโครงการรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.33 ล้านบาท คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คัน/วัน (รถยนต์ 36,000 คัน/วัน รถจักรยานยนต์ 35,000 คัน/วัน) ผลตอบแทนด้านการเงิน NPV 1,734.37 ล้านบาท Equity IRR เป้าหมาย 8.50% B/C Ratio 1.12 เท่า Payback Period 21 ปี
โครงการนี้มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ โดยมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 20.44%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 66)
Tags: กทพ., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข