กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) โดยคงคาดการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยสำหรับปีนี้และปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. แต่ลดคาดการณ์การขยายตัวเฉลี่ยสำหรับ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และไทย
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเฉลี่ยของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว 4.3% ในปี 2566 ซึ่งลดลง 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. จากนั้นจะขยายตัว 4.7% ในปี 2567 ซึ่งลดลง 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค.
ขณะเดียวกัน IMF คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวอ่อนแอลงสู่ระดับ 6.1% ในปีงบประมาณ 2566 ก่อนขยายตัวที่ 6.8% ในปีงบประมาณ 2567 เมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณการที่ 6.8% ในปีงบประมาณ 2565
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียและเศรษฐกิจเฉลี่ยของ 5 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวในปีนี้ โดยถูกกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะขยายตัวเร็วขึ้นในปี 2567 แม้ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดจะต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค.ก็ตาม
ขณะนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 5.2% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.8% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือนต.ค. โดยได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศอีกครั้ง หลังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์นานถึง 3 ปี โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก
ส่วนเศรษฐกิจสิงคโปร์มีแนวโน้มขยายตัว 1.5% ในปีนี้ เทียบกับที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนต.ค.ที่ 2.3%
นายปีแอร์ โอลิเวอร์ กูรินชาส์ ผู้อำนวยการแผนกวิจัยของ IMF ระบุว่า จีนและอินเดียเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่งของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ “การที่จีนเปิดประเทศแบบฉับพลันช่วยหนุนให้กิจกรรมเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ภาวะการเงินโลกก็กระเตื้องขึ้นเนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มลดลง ส่วนดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากระดับสูงเมื่อเดือนพ.ย.ช่วยลดความตึงเครียดให้กับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาพอสมควร”
“แม้เศรษฐกิจจีนช่วยหนุนให้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกระเตื้องขึ้น แต่หลายประเทศในเอเชียนั้นพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้นกิจกรรมเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจะถือเป็นปัจจัยบั่นทอนสำคัญ” นายกูรินชาส์กล่าว
ขณะเดียวกัน IMF ระบุว่า เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชีย มีแนวโน้มขยายตัวแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว โดยเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 5.3% ในปี 2566 เทียบกับเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่มีแนวโน้มขยายตัวเพียง 1.2%
ในโอกาสนี้ IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9% ในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนต.ค. อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ยังคงต่ำกว่าการขยายตัวที่ระดับ 3.4% ในปี 2565
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 66)
Tags: IMF, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ, เศรษฐกิจไทย