ส่องอนาคต บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หลังแจ้งงบปี 65 กำไรสุทธิพุ่งทำนิวไฮ 70,901 ล้านบาท เติบโตถึง 82% จาก 38,863.60 ล้านบาท โดยสร้างรายได้ 339,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จาก 234,631 ล้านบาทในปี 64 ปัจจัยหนุนหลักจากปริมาณขายเฉลี่ย (Sales volumes) เพิ่มขึ้น 12% มาที่ 468,130 บาร์เรล/วัน ส่งสัญญาณบวกต่อแนวโน้มผลงานปี 66 จากการฟื้นตัว YOY โดยเฉพาะในไตรมาส 4/65
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 65 เฉลี่ยที่ 96.4 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้นอย่างมากจากราคาเฉลี่ยในปี 64 ที่ 69.4 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความต้องการที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ด้านราคาก๊าซธรรมชาติเหลวเฉลี่ย Asian Spot LNG ก็ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณ 34 ดอลลาร์/ล้านบีทียู
จากผลการดำเนินงานในปี 65 ที่เติบโตโดดเด่น แล้วปี 66 PTTEP จะยังเติบโตได้ต่อเนื่องหรือไม่ ปัจจัยบวกและปัจจัยลบในปีนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปริมาณการขาย ราคาขาย และต้นทุน
- ปริมาณการขายยังเติบโตจากปีก่อน
PTTEP คาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/66 และทั้งปี 66 ไว้ที่ราว 472,000 และ 470,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ เติบโตเล็กน้อยจากการเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) ตามแผนงาน
- ราคาขายลดลง
จากราคาน้ำมันดิบของบริษัทจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก PTTEP คาดการณ์ว่าในปี 66 อุปสงค์-อุปทานน้ำมันดิบจะยังคงตึงตัว โดยมีความกังวลด้านเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในกรอบราคา 75-90 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาก๊าซธรรมชาติ คาดว่าราคาขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/66 และทั้งปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 6.7 ดอลลาร์/ล้านบีทียู และ 6.1 ดอลลาร์/ล้านบีทียู ตามลำดับ ลดลงจากปีก่อน เป็นผลจากสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ลดลง รวมถึงสัดส่วนปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของโครงการจี 1/61 (เอราวัณ) และโครงการจี2/61 (บงกช) ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีราคาขายก๊าซ ธรรมชาติต่อหน่วยลดลงเมื่อเทียบกับในระบบสัมปทานเดิม
- ต้นทุนลดลง
PTTEP คาดไตรมาส 1/66 และทั้งปี 66 จะสามารถลดระดับต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 27-28 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลงจากต้นทุนต่อหน่วยของปี 65 โดยหลักมาจากรายจ่ายค่าภาคหลวงต่อหน่วยที่ลดลงตามราคาขายผลิตภัณฑ์ของบริษัท และค่าเสื่อมราคาต่อหน่วยที่ลดลง
บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์ ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ของ PTTEP ขึ้น 6% เป็น 7.33 หมื่นล้านบาท หลักๆเพื่อสะท้อนต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ต่ำลงและปริมาณขายสูงขึ้น ขณะเดียวกันคาดการณ์กำไร 67 ที่ 7.58 หมื่นล้านบาท (+4% YoY) ซึ่งได้แรงหนุนจากปริมาณขายที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณการผลิตที่สูงขึ้นของโครงการ G1/61 (เอราวัณ)
ราคาหุ้น underperform SET -1% ใน 6 เดือน สอดคล้องกับความผันผวนสูงของราคาน้ำมันดิบ โดยปัจจุบันราคาหุ้นซื้อขายที่ปี 66 PBV 1.26 เท่า (+0.5SD บนค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี) หลังจากที่เราปรับลดคำแนะนำลงมาราคาหุ้นได้ปรับตัวลง 10% สวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวขึ้น 8%
คาดว่าบริษัทจะได้ประโยชน์จาก gas ASP ที่แข็งแกร่งและ unit cost ที่อยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาส 1/66 และอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (dividend yield) ที่ 2.9% ก็น่าสนใจ จึงปรับเพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมายใหม่ปี 66 ที่ 200 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 66)
Tags: Consensus, PTTEP, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, หุ้นไทย