บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (JD Central) แพลตฟอร์ม JD CENTRAL ชื่อดังประกาศยุติการให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 เป็นต้นไป โดยพันธมิตรหลักอย่าง JD.COM ขอกลับไปโฟกัสตลาดในจีนที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 มาตลอด
JD Central จัดตั้งขึ้นวันที่ 30 ต.ค.60 จากความร่วมมือระหว่างกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป และ เจดีดอทคอม (JD.Com) ประเทศจีน ในสัดส่วนการถือหุ้น 41.75% และ 58.25% ตามลำดับ ด้วยงบลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท และได้ตั้งเป้าหมายขึ้นเป็น เบอร์ 1 ของไทย แต่ผลการดำเนินงานไม่ได้สวยหรูอย่างฝัน โดยตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลขาดทุนเพิ่มขึ้นทุกปี
ตลาด E-commerce ในไทย เทรนด์ของธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่นำช่องทางออนไลน์มาหลอมรวมกับหน้าร้านเพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค (Omnichannel experience) เพื่อแข่งขันกับค้าปลีกออนไลน์ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดในธุรกิจแพลตฟอร์มเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ ส่งผลให้ธุรกิจแพลตฟอร์มยังคงมีแนวโน้มขาดทุน และในอนาคตอาจเหลือเพียงไม่กี่รายที่สามารถทำกำไรได้ ด้วยเหตุผลนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ JD หิ้วกระเป๋ากลับเมืองจีน
จากข้อมูลงบการเงินของ JD Central ย้อนหลังปี 60-64 มีผลขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ ดังนี้
– 30 ต.ค.-31 ธ.ค.60 มีผลขาดทุนกว่า 3.7 ล้านบาท
– ปี 61 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 944.12 ล้านบาท
– ปี 62 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 1,342.61 ล้านบาท
– ปี 63 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 1,375.51 ล้านบาท
– ปี 64 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 1,930.44 ล้านบาท
ขณะที่คู่แข่ง Market Player เจ้าใหญ่ อย่าง Shopee พบมีผลขาดทุนอย่างหนักตลอดปี 60-64 ดังนี้
– ปี 60 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 1,404.20 ล้านบาท
– ปี 61 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 4,113.97 ล้านบาท
– ปี 62 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 4,745.72 ล้านบาท
– ปี 63 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 4,170.17 ล้านบาท
– ปี 64 มีผลขาดทุนเพิ่มเป็น 4,972.56 ล้านบาท
ส่วน Lazada
– ปี 61 มีผลขาดทุนอยู่ที่ 2,645.23 ล้านบาท
– ปี 62 มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3,707.37 ล้านบาท
– ปี 63 มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3,988.77 ล้านบาท
– ปี 64 มีกำไรสุทธิที่ 226.88 ล้านบาท
– ปี 65 มีกำไรสุทธิที่ 413.08 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 66)
Tags: E-Commerce, JD Central, อีคอมเมิร์ซ, เจดีดอทคอม