หลังจากกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา
วันนี้นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เข้าหารือการจัดการเลือกตั้งกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
นายวิษณุ กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการยุบสภา ทาง กกต.ขอเวลาทำงานอย่างน้อย 45 วัน สิ่งที่เป็นปัญหานับจากนี้คือ กกต.ต้องมีการแบ่งเขตการเลือกตั้งจากเดิมที่มี 350 เขต เพิ่มเป็น 400 เขต ที่สำคัญมีบางจังหวัดที่มีประชากรเพิ่มและลดไม่เท่าเดิม ซึ่ง กกต.กลางจะต้องส่งให้ กกต.จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัดด้วย ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยถือเอาเดือนก.พ.ทั้งเดือน คือ 28 วัน อาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ หลังจากนั้นจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้
“จะให้เร็วอย่างที่หลายคนคิด ว่านี่ไงกฎหมายลูกประกาศใช้แล้วยุบสภาได้แล้ว บางคนก็บอกว่ารัฐบาลยื้อเวลา ไม่ยอมยุบ รีบยุบ แต่ถ้ายุบตอนนี้ กกต.บอกเลยว่าจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครลงสมัครเขตไหน อย่างไร ก็ต้องใช้เวลา 28 วัน หรือเดือน ก.พ.” นายวิษณุ กล่าว
ทั้งนี้ หลังวันที่ 28 ก.พ.จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเมื่อมีการประกาศยุบสภาแล้ว รัฐบาลต้องออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา และ กกต.จะต้องประกาศวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการประกาศดังกล่าวจะต้องรู้เขตเลือกตั้งทั้งหมดก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งมีหลายรูปแบบ เช่น แต่ละซอยอาจจะแบ่งกันไปคนละเขตก็ได้หากมีการซิกแซกเป็นการแบ่งเขตตามใจชอบมีการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งมีคนกลัวการแบ่งเขตตามใจชอบแบบสะเปะสะปะ จึงต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชน และจำเป็นต้องบอกให้ประชาชนได้รับรู้ให้ทั่วถึง ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาล
ทั้งนี้หากมีการยุบสภา ไทม์ไลน์ของการเลือกตั้งจะไม่กระทบวันหยุดช่วงเดือนพฤษภาคมที่เคยประกาศไว้ แต่มีโอกาสที่จะใช้ช่วงนั้นจัดการเลือกตั้งใหญ่ เพราะหากยุบสภาจะต้องเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน และวันเลือกตั้งจะต้องเป็นวันหยุดเสาร์อาทิตย์ และยืนยัน ว่ารัฐบาลและ กกต.ไม่มีการยื้อเวลา เป็นไปตามขั้นตอนทั้งหมด เพราะ กกต.เป็นองค์กรอิสระเป็นคนกำหนดการเลือกตั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 66)
Tags: กกต., เลือกตั้ง