Chapter 11 หากแปลโดยตรงแล้วจะหมายถึงการล้มละลายที่เป็นการขอฟื้นฟูกิจการ (Re-Organization) โดยลูกหนี้อาจขออำนาจศาลเพื่อมาคุ้มครองตนเองจากเจ้าหนี้ต่าง ๆ ไม่ให้ดำเนินการทางกฎหมายเอากับตนในช่วงระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถฟื้นตัวกลับมา ลดหนี้กับเจ้าหนี้หรือไม่ให้เจ้าหนี้มาขัดขวางการเก็บหนี้ต่าง ๆ ของตน กล่าวคือ ผู้ที่ยื่น Chapter 11 แสดงเจตนาต่อศาลหรือสาธารณะว่ายังมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป โดยขอไม่ต้องแบกภาระหนี้เดิมหรือ “Fresh start from burdensome debt”
ในช่วงวิกฤตในปี ค.ศ. 2022 จนถึงเดือนแรกของปี ค.ศ. 2023 นี้ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่จดทะเบียนและดำเนินกิจการในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับความยากลำบากและส่งผลต่อตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกหลายครั้ง ซึ่งโดยปกติในท้ายที่สุดนักลงทุนก็จะได้ทราบข่าวว่าบริษัทเหล่านั้นประกาศ Chapter 11 เป็นการยืนยันว่าบริษัทต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ สื่อส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็จะแปลความหรือนำเสนอข่าวว่าการประกาศ Chapter 11 คือ การล้มละลาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง
เมื่อมีการยื่นคำร้องแล้วจะเกิดสภาพพักชำระหนี้ชั่วคราว (Automatic Stay) คือ ภาวะที่ต้องหยุดการดำเนินธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น การปิดกิจการ การโยกย้ายทรัพย์สิน ที่มีอยู่ก่อนการยื่น Chapter 11 เว้นเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันอาจขอยกการบังคับหนี้หรือนิติกรรมหรือธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการปรับโครงสร้าง
กฎหมาย Chapter 11 ของประเทศสหรัฐอเมริกาดังกล่าวมีส่วนที่คล้ายกับกฎหมายฟื้นฟูกิจการของประเทศไทยหลายประการ เช่น ทั้ง Chapter 11 และการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของไทยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายยื่นคำร้องได้เช่นกัน และมีส่วนที่ต่างกัน เช่น กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาให้อำนาจแก่ผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ดำเนินงานต่อไปได้ แต่กฎหมายของประเทศไทยต้องมีการเสนอผู้ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้และได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากศาล
ดังนั้นแล้ว Chapter 11 จะมีหลักการและวัตถุประสงค์ที่ใกล้เคียงกับ การฟื้นฟูกิจการ ของประเทศไทยเป็นอย่างมาก การแปลหรือเข้าใจ Chapter 11 ว่าเป็น การล้มละลาย ที่บุคคลทั่วไปในประเทศไทยเข้าใจว่า กิจการเป็นหนี้มากหรือมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้จนเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายจนต้องจัดสรรแบ่งปันทรัพย์สินที่เหลืออยู่ระหว่างเจ้าหนี้จนอาจต้องยุติการดำเนินกิจการและไม่มีวันกลับมาประกอบการกิจได้เป็นปกตินั้น อาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนหรือส่งผลต่อการตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าบุคคลใดมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ตกอยู่ในบังคับของ Chapter 11 ดังกล่าว
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 66)
Tags: Chapter 11, SCOOP, กฎหมายฟื้นฟูกิจการ, ล้มละลาย, สินทรัพย์ดิจิทัล