ตลาดการเงินทั่วโลกจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ 31 ม.ค. และจะแถลงมติการประชุมในวันพุธที่ 1 ก.พ.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ.ตามเวลาไทย
นักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกเพียง 2 ครั้ง ก่อนที่จะยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เมื่อวันศุกร์ ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อในสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว สอดคล้องกับการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ก่อนหน้านี้
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50%-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ.นี้ และจะปรับขึ้นอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75%-5.00% ในการประชุมวันที่ 21-22 มี.ค. จากนั้นคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ย.
นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดแล้ว นักลงทุนยังจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า นายพาวเวลอาจจะส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดไว้ หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนี PCE เมื่อวันศุกร์ ซึ่งบ่งชี้ถึงการชะลอตัวของเงินเฟ้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ม.ค. 66)
Tags: Fed, ดอกเบี้ย, ตลาดการเงิน, ธนาคารกลางสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ย, เฟด