นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นักเศรษฐศาสตร์ และกรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า การส่งออกไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ราว 2-3% ลดลงจากผลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าบางประเทศ แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าจะกลับมาเกินดุลได้ ราคาพลังงานนำเข้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ลดการขาดดุลการค้าประกอบกับมีรายได้จากภาคท่องเที่ยวของต่างชาติ และกระแสเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ น่าจะแตะระดับ 9.5 แสนล้านบาทถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 66 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 18.5-20 ล้านคน ส่วนการท่องเที่ยวในประเทศจะมีรายได้ประมาณ 7-8 แสนล้านบาท รวมรายได้จากธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่องน่าจะอยู่ระดับ 1.55-1.8 ล้านล้านในปี 2566
“คาดการณ์ว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างชัดเจน แต่ยังคงห่างไกลจุดสูงสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย ที่เคยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสะสมเกือบ 40 ล้านคนในหนึ่งปี และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจากต่างชาติเกือบ 2 ล้านล้านบาท” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมประเมินว่า สงครามยูเครน-รัสเซีย อาจขยายวงและยืดเยื้อไปอีกนาน และยังไม่เห็นสัญญาณของการเจรจาสันติภาพกันได้ในอนาคตอันใกล้ การส่งอาวุธสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตก อาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางด้านนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นในทวีปยุโรป สภาวะดังกล่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปโดยตรง ความเสี่ยงต่อวิกฤติหนี้สาธารณะของประเทศในยุโรปเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นระลอกใหม่ได้ สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อพร้อมเศรษฐกิจถดถอยในบางประเทศได้
กรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ก่อผลทางลบอย่างรุนแรงเหล่านี้ จะเกิดความไม่นอนอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว การเปิดประเทศในระดับสูงของไทย ย่อมทำให้ได้รับผลกระทบจากพลวัตของภูมิรัฐศาสตร์เศรษฐกิจโลกอย่างมาก การมียุทธศาสตร์ให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในจากภาคการลงทุน และตลาดภายในมีความสำคัญในการลดความผันผวนจากภายนอก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ไทยควรต้องวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ใหญ่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework) ของสหรัฐอเมริกา ประเมินโครงการ Build Back Better World ของรัฐบาลโจ ไบเดนให้ดี เพราะโครงการนี้จะสนับสนุนกลุ่มทุนเอกชนในประเทศ G7 ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันและส่งเสริมความมั่นคงทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ดิจิทัล และความเท่าเทียมกันในทุกมิติ
นอกจากนี้ หลังจากจีนกลับมาเปิดประเทศเต็มที่แล้ว ไทยต้องติดตามมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้น (BRI) ของจีนจะมีความคืบหน้าไปในทิศทางใด ซึ่งคาดว่าจะมีการเร่งรัดให้เกิดตามเป้าหมายเร็วขึ้น เพื่อกำหนดตำแหน่งทางยุทธศาสตร์และการวางนโยบายเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศให้เหมาะสม
“บทบาทไทยในประชาคมอาเซียน มีความสำคัญต่อการรับมือความท้าทายกันของการปะทะกันทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองของมหาอำนาจโลกในภูมิภาคอาเซียน การวางตำแหน่งของไทยและอาเซียน ให้อยู่ในจุดศูนย์กลางของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิค มีความสำคัญ พร้อมกับการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน พรรคการเมืองต่างๆ ที่จะทำหน้าที่บริหารประเทศ ต้องมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ เหล่านี้ให้ชัดเจน” นายอนุสรณ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า ในปี 2566 เมื่อได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งแล้ว คาดว่าไทยคงจะสามารถเดินหน้าจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้อย่างรอบคอบ อย่างมีกลยุทธ์และรัดกุมยิ่งขึ้น การนำเข้าหมวดอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธปัจจัยต่างๆ น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร สินค้าเทคโนโลยี น่าจะเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ม.ค. 66)
Tags: ส่งออก, อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย