นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงของไทยจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิมมาก แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อยกระดับความสามารถในอีกหลายมิติผ่านนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงสามารถขยายผลไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ทั้งผลิตเพื่อใช้งานในประเทศและส่งออกต่างประเทศได้ในอนาคต
การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ใน 9 ประเด็นหลัก ได้แก่
1) วิกฤตค่าพลังงานเชื้อเพลิงราคาสูง หากมีการดัดแปลงรถยนต์สันดาปเป็นรถไฟฟ้าจะช่วยประหยัดค่าน้ำมันได้ถึง 5 เท่า และประหยัดค่าซ่อมรถ 15 เท่าต่อปี
2) หนี้ครัวเรือน 90% ของจีดีพี รวมถึงกลุ่มประชาชนรากหญ้า แบกภาระซื้อรถไฟฟ้าป้ายแดงไม่ไหว
3) การที่ประเทศไทยตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 111 ล้านตัน ให้ได้ภายใน 8 ปี โดยมาจากภาคขนส่ง 41 ล้านตัน คิดเป็นรถไฟฟ้ารวม 12 ล้านคัน
4) ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ 80% มาจากภาคขนส่ง รถกระบะดีเซลในกรุงเทพฯ 250,000 คัน ที่รถใหม่แก้ปัญหานี้ไม่ได้
5) ประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Tier 3 จำนวนกว่า 2,000 บริษัทไม่มีเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ขาดเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านเสี่ยงต่อการปิดตัวลง
6) ประเทศไทยมีอู่ที่จดทะเบียน 20,000 แห่ง อีก 50,000 แห่งไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งอู่เหล่านี้ซ่อมรถไฟฟ้าไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนผ่านฉับพลันจะทำให้เกิดปัญหาว่างงาน แต่ถ้าเปลี่ยนส่วนประกอบให้เป็นรถไฟฟ้าบางชิ้นอู่จะสามารถซ่อมและเรียนรู้ได้
7) บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 95% มีทักษะด้านเครื่องกล มีเพียง 5% ที่มีทักษะด้านไฟฟ้า รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ไม่มีการฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ ยังต้องการเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่าน
8) ความต้องการอะไหล่ที่มีราคาไม่แพงในตลาดหลังการขาย (After market) ของรถไฟฟ้าที่มีอายุ 7 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไทยสามารถทำชิ้นส่วนเหล่านี้ได้
9) ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในรูปแบบรถกระบะ ถ้าได้รับการสนับสนุนจะมีราคาเหลือ 300,000 บาทต่อคัน รถกระบะทั่วประเทศมี 7 ล้านคัน อายุ 10 ปีขึ้นไป 4 ล้านคัน ถ้าดึงส่วนนี้มาดัดแปลงแค่ 10% คือ 4 แสนคัน จะทำให้มีเงินหมุนในประเทศกว่า 120,000 ล้านบาท ไปที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอู่ในประเทศ
โดยผลการศึกษาของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีข้อเสนอถึงรัฐบาล 2 ส่วน คือ มาตรการทางการเงินและมาตรการที่ไม่ใช่การเงิน และให้การสนับสนุนใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ทำการดัดแปลง กลุ่มผู้ใช้งาน และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- มาตรการสนับสนุนทางการเงิน (Financial) สำหรับกลุ่มนิติบุคคลที่ทำการดัดแปลงยานยนต์น้ำมันให้เป็นไฟฟ้า (Converted Vehicles) เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้า ยกเว้นภาษีสรรพสามิตในระยะ 5 ปี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง สนับสนุนเงินลงทุนเครื่องมือ อุปกรณ์ที่จำเป็นที่ใช้ในสถานประกอบการ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของแบตเตอรี่ที่ใช้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เป็นต้น ในกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ (Vehicles Users and Fleet Operator) เช่น มาตรการช่วยอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการประกันภัย อุดหนุนค่าใช้จ่ายทางด่วน เป็นต้น และกลุ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า (Infrastructure) เช่น สนับสนุนค่าไฟฟ้าในการอัดประจุ สนับสนุนค่าติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าประจำบ้าน สนับสนุนให้หน่วยงานเอกชนติดตั้งสถานีอัดประจุบนพื้นที่จอดรถและให้ผู้บริการ เป็นต้น
- มาตรการสนับสนุนที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Financial) สำหรับกลุ่มนิติบุคคลที่ทำการดัดแปลงยานยนต์น้ำมันให้เป็นไฟฟ้า (Converted Vehicles) เช่น การเปิดอู่รถดัดแปลงพร้อมมีประกาศนียบัตรจะได้ลดหย่อนภาษี ภาครัฐสนับสนุนการฝึกอบรม โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ 200% ในกลุ่มผู้ใช้ยานพาหนะและผู้เดินรถ (Vehicles Users and Fleet Operator) เช่น การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำรถที่ใช้งานอยู่มาดัดแปลงให้เป็นรถไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 50% ภายในเวลา 2 ปี อนุญาตให้ข้าราชการที่ใช้รถไฟฟ้าดัดแปลงสามารถนำรถมาอัดประจุได้ที่หน่วยงานราชการที่สังกัดอยู่ เป็นต้น และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบสายส่งและระบบอัดประจุไฟฟ้า (Infrastructure) เช่น การปรับระบบและอนุญาตให้ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงใช้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าตามพื้นที่สาธารณะได้
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติม ได้แก่
- การสนับสนุนทางการเงิน การลดภาษีในระยะแรกเริ่ม เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีประกอบแบตเตอรี่ และภาษีประกอบตัวรถ จะสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจุบันรถไฟฟ้าดัดแปลงหลายกลุ่มจะแพงกว่ารถไฟฟ้าใหม่ที่นำเข้าจากจีน เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงซึ่งเป็นรถขนาดเล็กเมื่อคิดภาษีเหล่านี้จะมีราคาใกล้เคียงกับรถที่นำเข้าจากจีนทั้งคัน เนื่องจาก FTA และมาตรการสนับสนุนการนำเข้าและผลิตรถไฟฟ้าใหม่ที่มีในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงของยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงควรมีราคาถูกกว่าค่าซ่อมบำรุงของยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ เสนอให้มีการสนับสนุนเงินทุนด้านการสร้างความรู้และช่วยเรื่อง Finance และลดดอกเบี้ยในการซื้อ EV Conversion การลดค่าการจดทะเบียนเพราะกลายมาเป็นต้นทุนที่สูง การลดค่าไฟฟ้าที่ปัจจุบันแพงหน่วยละ 8 บาท และในระยะยาวภาษีนำเข้าชิ้นส่วนควรจะคงไว้เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการชิ้นส่วนในประเทศแต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเร็ว
- การมีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพเป็นศูนย์กลาง จะสามารถทำให้เกิดการรวบรวมความต้องการมี volume เพียงพอที่จะสามารถลดต้นทุนได้ ให้มีการ certify อู่ไหนปลอดภัย ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงยังไม่มี Leasing อยากให้มี Leasing อยากให้มี Sandbox และมีหน่วยงานกลางในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการทดสอบให้มีราคาถูกลงทำให้มีศักยภาพในการเติบโตที่ดีขึ้น อยากให้มีการแบ่งและรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่ช่วยเหลือกันได้ตาม value chain ซึ่งจะทำให้มีการรวมกลุ่มและแบ่งงานกันทำและภาครัฐสามารถกำหนดว่าเรื่องนี้จะให้ใครทำและสามารถให้การสนับสนุนเป็นกลุ่ม ปัจจุบันผู้ประกอบการทุกคนต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และอยากให้รัฐเป็นศูนย์กลางในการจับคู่ business matching กับผู้ประกอบการจากทั่วโลกที่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย การบูรณาการมาตรฐานชิ้นส่วน โดยเฉพาะตัว battery และตัวสายไฟ
- การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ Key success คือต้องให้สามารถ scale up ให้ได้และเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดการผลิต อาจจะต้องทำ technology และนวัตกรรมร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการ และอยากให้มีโรงงานแบตเตอรี่แห่งชาติในประเทศไทย ที่ผลิตและขายออกให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำไปพัฒนา applications
- การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ ผู้ประกอบการยังมีความรู้ไม่เพียงพออยากให้มีการ upskill, reskill ภาคเอกชนเปิดรับเด็กนิสิตนักศึกษา ปวช. ปวส. ที่จบใหม่ และภาคเอกชนช่วยพัฒนาหลักสูตร ผลิตกำลังคน
- การวิจัยและพัฒนา ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาชิ้นส่วนหลักๆ ที่มีอยู่ไม่เกิน 10 ชิ้นให้มีคุณภาพดีและราคาที่ผู้ประกอบการไทยสู้ไหวและสามารถผลิตเพื่อการส่งออกได้ด้วย
- การสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับ แม้ว่ามีคนไทยออกแบบและผลิตชิ้นส่วนได้เองและใช้งานได้ดี เช่น board electronic แต่เนื่องจาก EV และ EV Conversion ถือว่าเป็นเรื่องใหม่คนเลยยังไม่มั่นใจของที่พัฒนาและผลิตโดยคนไทย อยากให้ภาครัฐเป็นผู้ใช้งานและผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และผลักดันให้สามารถส่งออกไปสู่ต่างประเทศได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 66)
Tags: มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์, รถ EV, รถยนต์ไฟฟ้า