กระทรวงการคลัง คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวได้ 3.8% เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 65 โดยได้ปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวและจะเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุล 3,100 ล้านดอลลาร์ จับตาแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า ความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 3.3-4.3% ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชียที่จะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น คาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 27.5 ล้านคน พุ่งขึ้น 147% จากปีก่อน ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวทำได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการ “ช้อปดีมีคืน” ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ.66 คาดว่าจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของประชาชนได้ราว 5 หมื่นล้านบาท มีผลต่อ GDP ปีนี้ 0.15% ซึ่งในส่วนนี้ได้รวมอยู่ในคาดการณ์ GDP ปี 2566 ที่ 3.8% ไว้เรียบร้อยแล้ว
ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ตามรายได้ภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น โดยบทบาทของนโยบายการคลังจะยังมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างทั่วถึง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.6% จากความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มกลับมาดีขึ้น
ด้านการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ราว 0.4% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.3-3.3%) ปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% เนื่องจากราคาพลังงานโลกลดลง ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะกลับมาเกินดุลได้ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP
โฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า การส่งออกไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงมาตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. 65 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวลง แต่จากทิศทางสถานการณ์ในปัจจุบัน เชื่อว่าการส่งออกไทยยังไม่ติดลบ
“ถามว่าส่งออกมีโอกาสติดลบไหม ก็มี ซึ่งอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ -0.1 ถึง 0.9% แต่ ณ วันนี้ยังไม่ถึงจุดนั้น ทิศทางที่จะเป็นลบยังไม่มี และถามต่อว่า หากส่งออกติดลบมากกว่าคาดการณ์ ก็จะมีส่วนทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ม.ค.66 ไม่เป็นไปตามคาดการณ์ แต่ก็ยังต้องติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% และมองว่ามีโอกาสจะดีขึ้น หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4/65 ที่เพิ่งประกาศออกมาปรับตัวดีขึ้น”
นายพรชัย กล่าว
ปัจจัยต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ด้านปัจจัยสนับสนุน อาทิ ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวได้มากกว่าคาด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนหลังเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง
ด้านปัจจัยเสี่ยง อาทิ 1.ทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความผันผวนของตลาดการเงินโลก จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป 2.ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นคงระหว่างประเทศ และปัจจัยการผลิตต่าง ๆ และ 3.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
สมมติฐานสำคัญที่นำมาพิจารณาในประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ดังนี้
- แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ 15 ประเทศในปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่เป็นอัตราชะลอลงจากปี 65 ที่ขยายตัว 3% จากผลของนโยบายการเงินของหลายประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าผลกระทบจะไม่รุนแรงมาก เนื่องจากได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคของหลายประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น
- เงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 32.50 บาท/ดอลลาร์ ทิศทางแข็งค่าเนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐยังมีทิศทางอ่อนค่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยหลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในตลาดพันธบัตรของไทยที่ยังมีอยู่ต่อเนื่องเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เงินบาทปีนี้ยังแข็งค่า
- ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 85 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 11% จากปี 65 แต่ยังต้องจับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งจะมีผลให้เกิดวิกฤตพลังงานและทำให้ราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นได้
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 27.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 65 ถึง 147% ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท คาดว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 43,406 บาท/คน/ทริป
- รายจ่ายภาคสาธารณะ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ 3.2 ล้านล้านบาทนั้น คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตรา 93.8%
โฆษกกระทรวงการคลัง ยังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 65 ว่า ขยายตัวได้ 3.0% ซึ่งการผ่อนปรนมาตรการการเดินทางของประเทศต่าง ๆ ประกอบกับ สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศที่ปรับดีขึ้น ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและภายในประเทศ ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 11.2 ล้านคน สร้างรายได้ 3.6 แสนล้านบาท ด้านมูลค่าการส่งออก ขยายตัว 5.3% การนำเข้า ขยายตัว 15.0% ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 19.8 พันล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.1%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 66)
Tags: กระทรวงการคลัง, ท่องเที่ยว, พรชัย ฐีระเวช, เศรษฐกิจ, เศรษฐกิจไทย