หลังจากราคาบิทคอยน์มีการขยับขึ้นแตะ 23,000 ดอลลาร์ให้นักลงทุนตื่นเต้นเล่น ๆ เหล่าเหมืองขุดก็เริ่มกลับมาเปิดสวิชท์เครื่องอีกครั้ง และขณะที่ค่าความยาก (Diff) ก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทางฝั่งสหรัฐก็เปิดตัวบริการใหม่ขุดบิทคอยน์ด้วยพลังงานนิวเคลียร์แล้ว
ล่าสุดมีข่าวว่าศูนย์ข้อมูล Cumulus Susquehanna ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Talen Energy ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระในสหรัฐ เตรียมจะเปิดตัวบริการขุดบิทคอยน์ด้วยพลังงานนิวเคลียร์ในไตรมาสแรกของปี 2023
ต้องบอกว่าการขุดบิทคอยน์เป็นเรื่องดราม่ามานาน เพราะมีหลายฝ่ายออกมาถกเถียงมากมายเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง จนมาถึงการนำพลังงานสะอาดมาขุดบิทคอยน์ ตอนนี้เราก็มาถึงยุคที่นำพลังงานนิวเคลียร์มาขุดบิทคอยน์กันแล้ว
ทั้งนี้ ค่าความยากในการขุดบิทคอยน์ (diff) ก็เพิ่งขึ้นมาถึง 10.26% เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สอดรับกับราคาบิทคอยน์ที่มีการขยับตัวขึ้น สายขุดก็เริ่มเปิดเครื่องขุดกันอีกครั้ง และขณะที่เมืองนอกจะใช้พลังงานนิวเคลียร์มาขุดบิทคอยน์กันแล้ว ล่าสุดในเมืองไทย ก็แอบจับได้ว่ามีคนลักลอบใช้ไฟเถื่อนในการขุดบิทคอยน์อีกแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแถวซอยลาดพร้าวและซอยประเสริฐมนูกิจ
เมื่อพูดถึงประเทศเอลซัลวาดอร์ ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึงประธานาธิบดี Nayib Bukele เพราะเป็นผู้นำประเทศแรก ๆ ที่ซื้อบิทคอยน์เก็บไว้ และทยอยซื้ออย่างต่อเนื่องด้วย จนเป็นเหตุให้สำนักข่าวหลายแห่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอลซัลวาดอร์อาจถึงขั้นล้มละลาย เพราะไม่สามารถจ่ายหนี้พันธบัตรกว่า 800 ล้านดอลลาร์ ในวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมาได้
แต่แล้วความจริงก็ปรากฎ เมื่อประธานาธิบดีนายิบออกมาประกาศว่าได้ชำระหนี้ครบถ้วนตามกำหนดระยะเวลา แถมยังไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก IMF ด้วย
นอกจากนั้น รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของเอลซัลวาดอร์ Alejanro Zelaya ก็ได้ Tweet ซ้ำอีกว่าได้ชำระหนี้คืนหมด พร้อมดอกเบี้ยตามกำหนดระยะเวลาแล้ว และได้ mention ถึงสำนักข่าวที่เคยตราหน้าว่ารัฐบาลจะไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ได้ งานนี้ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับประเทศเอลซัลวาดอร์ด้วย
ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประกาศแก้ไขเกณฑ์ของ Utility Token วันนี้ Crypto SHOT จะมา wrap up ง่าย ๆ ดังนี้
หากพูดถึง Token ในบ้านเรา ตามเกณฑ์ของ ก.ล.ต. แล้ว จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ Token เพื่อการลงทุนหรือใช้แสดงสิทธิในการลงทุน คือ Investment Token อีกประเภทหนึ่งก็คือ Utility Token ซึ่งก็จะแบ่งได้อีก เป็นแบบพร้อมใช้ และไม่พร้อมใช้ โดยตัว Utility Token นี้เองที่ทาง ก.ล.ต. มีการประกาศแก้ไขเกณฑ์ในครั้งนี้
สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการแบ่ง Utility Token พร้อมใช้ ออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ 1 เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ Utility Token ที่ใช้งานเพื่อการอุปโภค บริโภค ใช้แสดงสิทธิต่าง ๆ ที่ระบุไว้ชัดเจน เช่น แทนบัตรจับมือ บัตรคอนเสิร์ต การเข้าพักในโรงแรม หรือใช้แลกของต่าง ๆ ซึ่ง Token ประเภทนี้ ก.ล.ต. ห้ามไม่ให้ลิสต์บน Exchange และห้ามไม่ให้ทั้ง Broker และ Dealer เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือให้บริการด้วย ขณะที่ NFT ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
Utility Token พร้อมใช้ กลุ่มที่ 2 ก็จะเป็นกลุ่มที่นอกเหนือจากกลุ่มแรก เช่น Native Token หรือ Governance ต่าง ๆ หรือโทเคนที่เป็นของ Exchange นั้น ๆ กลุ่มนี้ลิสต์ได้ แต่ต้องยื่น filing ขออนุญาต และต้องผ่าน ICO Portal เท่านั้น
ส่วน Utility Token ไม่พร้อมใช้ ตรงนี้ก็คือตามเกณฑ์เดิม คือต้องออกผ่าน ICO Portal ยื่นไฟลิ่งตามขั้นตอนเดิมเลย
และตัว Utility Token ทั้งพร้อมใช้และไม่พร้อมใช้ จะต้องไม่ทำหน้าที่เป็น Means of Payment ต้องไม่มีลักษณะเป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ขณะนี้ ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นในเว็บไซด์ ใครที่มีข้อเสนอแนะ หรือว่าคิดเห็นอย่างไรกับเกณฑ์ใหม่นี้ก็สามารถแจ้ง ก.ล.ต.ผ่านแบบฟอร์มนี้ได้เช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือ Crypto SHOT ข่าวสารวงการคริปโทฯ ที่ใครก็อยากรู้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 66)
Tags: bitcoin, Cryptocurrency, CryptoShot, คริปโทเคอร์เรนซี, บิตคอยน์, พลังงานนิวเคลียร์