นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประชุมซักซ้อมแนวทางการดำเนินการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกล่าวถึงนโยบายของกทม.ที่ให้ความสำคัญในการดูแลประชาชนคนเดินเท้าให้สัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ส่วนผู้ค้าที่ทำการค้าอยู่บนทางเท้า ก็ต้องดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยได้ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา รวมถึงจัดหาพื้นที่สำหรับทำการค้าได้ โดยไม่กีดขวางทางเดินเท้า มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย อาจเป็นพื้นที่ของเอกชนที่มีความเหมาะสม ที่ผ่านมาถือว่าทำได้ดี ทุกคนต่างเข้าใจในจุดมุ่งหมาย และสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้
ทั้งนี้ สำนักเทศกิจ ได้รายงานความคืบหน้าการจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันมี พื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย เจ้าพนักงานจราจรให้ความเห็นชอบแล้ว 86 จุด ผู้ค้า 5,419 ราย ประกาศเป็นพื้นที่ทำการค้าแล้ว 55 จุด ผู้ค้า 3,817 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศ 31 จุด ผู้ค้า 1,602 ราย เสนอทบทวนเจ้าพนักงานจราจร 9 จุด ผู้ค้า 629 ราย ส่วนผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน 697 จุด ผู้ค้า 15,320 ราย
สำหรับแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงทางแผงค้าในพื้นที่ทำการค้านำร่อง 95 จุด แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2565 จำนวน 16 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 14 จุด อาทิ ซอยสังคโลก เขตดุสิต ซอยเสนารักษ์ เขตราชเทวี ซอยรางน้ำ เขตราชเทวี หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี เขตบางนา หน้าอาคารโรเล็กซ์ ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน หน้าตลาดพรานนก ถนนอิสรภาพ เขตบางกอกน้อย ไม่สามารถดำเนินการได้ 2 จุด บริเวณตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง และตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง เนื่องจาก รฟม. กำหนดเป็นแนวพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะที่ 2 เดือนธันวาคม 2565-กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 29 จุด ระยะที่ 3 เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2566 จำนวน 49 จุด
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินการผู้ค้าในจุดที่ได้รับอนุญาต ดังนี้
- ทำการค้าด้วยตนเอง
- ตั้งวางอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนด
- ร่มแผงค้า ร่มอุปกรณ์การค้า มีขนาดลักษณะตามที่กำหนด
- ต้องไม่วางกองสินค้า แผงค้า รถเข็น ลังหรืออุปกรณ์ใส่สินค้าบนถนน
- ไม่ขายสินค้าบนรถหรือบนถนน รวมทั้งไม่นำรถยนต์ รถจักรยานยนต์พ่วงข้างขึ้นไปจอดขายสินค้าบนทางเท้า
- ดูแลรักษาความสะอาด ไม่เททิ้งขยะ น้ำล้างภาชนะลงในท่อระบายน้ำ
- ไม่ตั้งวางแผงค้าในบริเวณที่ห้าม ในระยะ 10 เมตร จากป้ายและศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง จุดที่หยุดหรือจอดรถโดยสารสาธารณะ, ในระยะ 10 เมตร จากทางขึ้นลงละพานลอยคนเดินข้าม บริเวณใต้สะพานลอยคนเดินข้าม ทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า บริเวณไต้สถานีรถไฟฟ้า ช่องทางเข้าลิฟต์สำหรับผู้พิการ, ในระยะ 3 เมตร ทั้ง 2 ด้าน ของทางเท้าบริเวณข้ามถนนที่มีทางม้าลาย, ในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก, ในระยะ 5 เมตร จากช่องทางเข้าออกอาคารที่ประชาชนใช้สอย, ในระยะ 3 เมตร จากห้องสุขาสาธารณะ, ในระยะ 3 เมตร จากจุดจ่ายน้ำดับเพลิง (ประปาหัวแดง), ในระยะ 1 เมตร จากบริเวณโดยรอบตู้โทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์
ส่วนแนวทางการดำเนินการผู้ค้านอกจุดที่ได้รับอนุญาต ดังนี้ ย้ายเข้าไปขายของในพื้นที่เอกชน 14 จุด ผู้ค้า 160 ราย ยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย 18 จุด จัดระเบียบแนวทางหลักเกณฑ์ตามประกาศฯ ปี พ.ศ.2563
สำหรับแนวคิดในการปฏิบัติการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอย ดังนี้
- ในทุกจุดไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ค้า
- ในพื้นที่จุดผ่อนผัน จัดระเบียบให้เรียบร้อย อาจมีการขอความร่วมมือจากเอกชนในการทำแผ่นกั้นเพื่อความเรียบร้อย
- ยังไม่มีการเพิ่มจุดผ่อนผัน
- ในพื้นที่นอกจุดผ่อนผัน ห้ามเพิ่มจำนวน ห้ามกีดขวางทางเดิน ไม่ให้สกปรกรกรุงรังโดยเด็ดขาด ในพื้นที่ที่กีดขวางทางเดินให้ดำเนินการชี้แจงให้ขยับเข้าไปขายในจุดที่พื้นที่เอกชนหรือในซอยย่อยที่ไม่เกะกะ กำหนดเส้นทางหลักที่เป็นเส้นทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมือง ในพื้นที่ซอยย่อยที่ย้ายเข้าไปแล้ว ต้องดูแลไม่ให้กีดขวางทางเดิน
- ให้มีกรรมการชุดย่อยรายเขต เข้าช่วยดูแลรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ของเขต
- ให้มีกรรมการชุดใหญ่ ในการกำหนดเส้นทางหลัก แนวทางปฏิบัติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- จัดหาพื้นที่ของเอกชน และภาครัฐในการจัดทำ Hawker Centers ให้เป็นรูปธรรม
- เจรจากับเอกชน เพื่อหาพื้นที่ช่วยในการจัดระเบียบ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ทางเท้า, สำนักเทศกิจ, หาบเร่-แผงลอย, เทศกิจ