Krungthai COMPASS ประเมินมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ 0.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของจีน ซึ่งหลังจากทางการจีนผ่อนคลายมาตรการ Zero COVID ในเดือนม.ค.66 ได้ส่งผลให้แนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศของจีนจะทยอยฟื้นตัว และภาคการผลิตของจีนที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะช่วยให้แนวโน้มปัญหา supply chain disruption คลี่คลายมากขึ้น ซึ่งคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศจีน
ขณะที่มูลค่าการส่งออกเดือนธ.ค.65 อยู่ที่ 21,719 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวต่อเนื่องที่ 14.6% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.0% โดยการส่งออกสินค้าทุกหมวดหดตัว ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอ และผลของฐานเดือน ธ.ค. ในปี 64 ที่สูง ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2565 ขยายตัวที่ 5.5%
Krungthai COMPASS ชี้ว่า การส่งออกที่หดตัวในระยะหลัง เป็นผลของการส่งออกเชิงปริมาณที่หดตัวเป็นสำคัญ และในระยะข้างหน้า ปริมาณการส่งออกยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ด้านราคาส่งออก แม้ว่ายังขยายตัวได้จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ระดับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง แต่คาดว่าอัตราการขยายตัวได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มชะลอลง
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) คาดว่า การส่งออกของไทยในปี 2566 จะขยายตัวได้ 1.2% ลดลงจากประมาณการเดิมก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการจัดเก็บภาษีการนำเข้ารูปแบบใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ แม้ในระยะต่อไป การส่งออกสินค้าของไทยจะได้รับอานิสงส์จากการยกเลิกมาตรการ ZERO-COVID ในจีนอยู่บ้างก็ตาม
ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่น่าจับตาในระยะข้างหน้า ภาคการส่งออกไทยอาจเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมจากการจัดเก็บภาษีนำเข้าใหม่ของประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งจะเริ่มมีผลบางส่วนตั้งแต่ปีนี้ นำโดยสหภาพยุโรปที่ประกาศจะจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่
1. Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) โดยผู้นำเข้าจะต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนของสินค้าที่จะนำเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ และคาดว่าจะต้องชำระภาษีจริงในปี 2027 ครอบคลุมสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหภาพยุโรป ได้แก่ เหล็ก เครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นประมาณ 30.8% ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปทั้งหมด
2. สหภาพยุโรปได้อนุมัติกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2024 ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าของสินค้าที่จะนำเข้าไปในสหภาพยุโรป ครอบคลุมสินค้าส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรป เช่น น้ำมันปาล์ม เนื้อวัว ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่รัฐบาลอินเดียมีแผนประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากร 35 รายการ คาดว่าจะครอบคลุมสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังอินเดีย เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ คิดเป็นประมาณ 21% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปอินเดีย โดยคาดว่ารัฐบาลอินเดียจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 1 ก.พ. นี้
“แม้อุปสงค์จากตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงชัดเจน ตามทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัวภายใต้ความไม่แน่นอนสูง แต่ปัญหาด้านอุปทานคอขวดที่จะปรับดีขึ้นต่อเนื่อง และการเปิดประเทศของจีน จะทำให้การส่งออกสินค้าของไทยมีข่าวดีได้บ้าง ท่ามกลางหลายข่าวร้ายที่ออกมาในแต่ละเดือนก่อน” บทวิเคราะห์ SCBEIC ระบุ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาพรวมการส่งออกไทยปี 2566 ยังต้องเผชิญแรงกดดันจากหลากหลายปัจจัยลบ โดยเฉพาะภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะบั่นทอนกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมถึงทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท อย่างน้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 และปัจจัยฐานในปี 2565 ที่อยู่ในระดับสูง
ดังนั้น จึงประเมินว่าภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 อาจยังคงเผชิญกับการหดตัวที่ -0.5% (หดตัวลดลงจากที่คาดไว้เดิมที่ -1.5% ณ เดือนธ.ค.65) หลังได้รับปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายมาตรการโควิดเป็นศูนย์ จนนำมาซึ่งการเปิดประเทศของจีนที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.66 ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจีน ทั้งในด้านการผลิต และการบริโภคกลับมาปรับตัวดีขึ้น และช่วยขับเคลื่อนการส่งออกไทยไปยังจีนในปี 2566 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จะกลับมาขยายตัวได้ที่ 3.4% (จากเดิมที่คาดว่าจะไม่มีการเติบโต)
ทั้งนี้ การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ประกอบกับฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ทำให้การส่งออกไทยเดือนธ.ค.65 หดตัวลึกที่ 14.6% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีมูลค่า 21,718.8 ล้านดอลลาร์ฯ ฉุดให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2565 เติบโตอยู่ที่ 5.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 66)
Tags: krungthai COMPASS, ส่งออก, เศรษฐกิจไทย