ชาติพัฒนากล้า เปิดตัว 12 นโยบายศก. ชู Spectrum Economy หาเงินเข้าปท.

พรรคชาติพัฒนากล้า นำโดย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค พร้อมผู้บริหาร อาทิ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ เลขาธิการพรรค นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจพรรค ร่วมแถลงเปิดนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งและขับเคลื่อนประเทศ บนแนวคิด “งานดี-มีเงิน-ของไม่แพง!” ประกอบด้วย 12 นโยบาย ได้แก่

1. นโยบายรื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้อีก 5 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปี ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี (Spectrum Economy) ได้แก่

– เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม: เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ต้องแยกระบบสายส่งออกจากการไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งของรัฐ ขยายพื้นที่ป่าเป็น 40% หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต

– เศรษฐกิจสีเทา เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี: ธนาคารโลก ระบุว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจสีเทาแฝงอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากเป็นอันดับต้นของโลก สูงถึง 50% ของ GDP แต่ขาดให้โอกาสในการเก็บภาษีเข้ารัฐ จึงเสนอให้มีกาสิโนในรีสอร์ทเหมือนสิงคโปร์ ที่มีรายได้ในส่วนนี้ 2 แสนล้านบาทต่อปี

“จะนำธุรกิจและเศรษฐกิจสีเทาให้สู่ที่สว่าง โดยพรรคจะส่งเสริมพื้นที่ที่พร้อม ออกใบอนุญาตทำคาสิโนรีสอร์ท เพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ และแก้ปัญหาเงินจากบ่อนใต้ดิน ดึงรายได้ของคนไทยที่เล่นการพนันในคาสิโนในประเทศเพื่อนบ้าน และทำให้เกิดการท่องเที่ยว นอกจากนั้นจะช่วยแก้ปัญหาลอตเตอร์รี่ราคาแพง”

– เศรษฐกิจสีขาว เศรษฐกิจสายมู: ตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่เป็นเทรนด์ใหม่ในโลก จังหวัดละ 1 พันล้านบาท

“ยุทธศาสตร์สีขาว ที่มาจากความเชื่อและศรัทธา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มาจากการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยจะตั้งกองทุนให้กับ 77 จังหวัดเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวสายมู”

– เศรษฐกิจสีน้ำเงิน เศรษฐกิจสายเทค: สร้างโอกาสด้านดิจิทัลอีโคโนมี 1.75 ล้านล้านบาท สร้างโอกาสให้คนไทยในเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม โดยที่สามารถดำเนินการได้ก่อน คือเรื่องการท่องเที่ยว ให้สามารถจองห้อง จองโรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งรายได้ให้กับเจ้าของแพลตฟอร์ม เนื่องจากทำให้ไทยสูญเสียโอกาสไปมาก

นอกจากนี้ เทคโนโลยีจะมาช่วยแก้ปัญหาล็อตเตอรี่ไม่ให้เกิน 80 บาท โดยขยายเพิ่มเป็น 50 ล้านใบ เมื่อรัฐบาลขายเองผ่านแอปพลิเคชันตัวเอง และไม่ต้องจ่ายค่าการตลาดให้กับยี่ปั๊ว ก็จะสามารถสร้างเงินกลับเข้าสู่กระเป๋าประชาชนเกือบ 3 หมื่นล้านบาท/ปี

– เศรษฐกิจสีรุ้ง: จากความเท่าเทียมสู่โอกาสทางเศรษฐกิจ เพิ่มกำลังซื้อสูงสุด 1 ล้านล้านบาททุกปี เริ่มด้วยการปรับกฎหมายให้สมรสได้ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการรองรับกำลังซื้อใหญ่จากทั่วโลก

– เศรษฐกิจสีเงิน เศรษฐกิจวัยเก๋า: สร้างบ้านผู้สูงอายุ ปรับปรุงบ้าน 5 หมื่นล้าน 1 ล้านครัวเรือน เพื่อลดสถิติคนสูงอายุล้มในบ้านปีละ 2 ล้านคน

– เศรษฐกิจสีเหลือง เศรษฐกิจสร้างสรรค์: กองทุน Soft power

“ทุกนโยบายเศรษฐกิจ ทุกการรื้อโครงสร้างเหล่านี้ จะทำให้คนไทยมีงานดี มีเงิน และของไม่แพง เรามีนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งใช้เงิน แต่เรามียุทธศาสตร์หาเงินใหม่เข้าประเทศ รองรับการทำงานของรัฐบาลในอนาคตต่อไป”

นายกรณ์ กล่าว

2. ลดภาษีบุคคล เงินเดือน 40,000 บาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี: นโยบายลดภาษีให้คนทำงาน ที่เงินเดือนไม่ถึง 40,000 บาท เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมาก แต่ภาษีไม่เคยปรับลดเลย ขณะที่รัฐบาลดภาษีนิติบุคคลของบริษัทขนาดใหญ่จาก 30% เหลือ 20% ตอนนี้รายได้รัฐเริ่มฟื้น สำนักงบประมาณประมาณการรายรับจะเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะลดภาระคนทำงาน ซึ่งนโยบายนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลเคยหาเสียงไว้ แต่ตลอด 4 ปีที่มาไม่ได้ทำ

3. น้ำมัน แก๊ส ไฟฟ้า ถูกลง รื้อโครงสร้างพลังงาน: เนื่องจากน้ำมัน และไฟฟ้า เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ของแพง ปัญหาคือ น้ำมัน และค่า Ft มีราคาสูง และไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการทำธุรกิจแบบผูกขาด จึงควรรื้อโครงสร้างเพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้า และให้ผลประโยชน์ตกที่ประชาชน

4. ยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร รื้อระบบสินเชื่อ: เปลี่ยนเป็น Credit Scoring ซึ่งถ้าแก้เรื่องนี้ได้ จะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ และดอกเบี้ยด้วย

5. Gov-Tech ราชการในมือถือ รวดเร็ว ปลอดคอร์รัปชัน รื้อระบบราชการให้ทันสมัย: แก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อให้หน่วยงานทั้งหมดมารวมอยู่ในแอปพลิเคชันเดียว ประชาชนดำเนินการได้สะดวกด้วยการขออนุญาตเพียงครั้งเดียว ถือเป็นการแก้ระบบราชการไทยที่มี one stop service คือ ทุกที่มี stop เสมอ ประชาชนต้องดำเนินการซ้ำซ้อน

6. เกษตรสร้างชาติ เพิ่มมูลค่าด้วยเทคโนโลยี-อุตสาหกรรม: โดยการพัฒนาสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าพรีเมียม, สร้างระบบ “Cloud factory” รัฐสร้างโรงงานส่วนกลาง ให้เกษตรกรใช้แปรรูปสินค้า, เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สนับสนุนค่าขนส่งให้เกษตรกรขายสินค้าผ่านทางออนไลน์รายละ 1 หมื่นบาท/ปี หรือ 1 หมื่นล้านบาท/ปี และปรับโครงสร้างเกษตรกรไทย เป็นบริษัทสหกรณ์

7. สร้างเด็กไทย 3 ภาษา ไทย-ต่างประเทศ-Coding: เด็กที่ได้เรียนรู้ทั้งสามภาษา จะเป็นใบเบิกทางในการทำงานในอนาคตได้มากขึ้น โดยจะมีการสนับสนุนครูภาษาต่างประเทศ เพื่อเน้นการสื่อสารมากขึ้น และเสนอหลักสูตรภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเพิ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ทุกโรงเรียน

8. ทุนธุรกิจสร้างสรรค์ สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ไม่จำกัดวุฒิและวัย: เป็นการให้โอกาสสำหรับผู้ที่มีไอเดีย และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ทุกคนเท่าๆ กัน

9. สูงวัยไฟแรง งานใหม่ 5 แสนตำแหน่ง: รัฐจะช่วยเหลือเงินเดือน 5,000 บาท/คน เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุมีงานทำ และไม่รู้สึกหมดคุณค่าในตนเอง

10. อารยสถาปัตย์ ปรับปรุงบ้าน 50,000 บาท ให้ผู้สูงวัยและผู้พิการ: จากสถิติพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ต้องประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในบ้าน เนื่องจากความล้มเหลวด้านอารยสถาปัตย์

11. มอเตอร์เวย์ทั่วไทย 4 ทิศ 2,000 กิโลเมตร: ได้แก่

1. เส้นทาง โคราช-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย 350 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท

2. เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-เชียงราย 680 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 200,000 ล้านบาท

3. เส้นทาง กรุงเทพฯ-นครปฐม-ชะอำ-หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร-สุราษฎร์ธานี-นราธิวาส 1,100 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 250,000 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางทั้งหมดจะช่วยให้การคมนาคมรวดเร็วขึ้น และยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย

12. ท่องเที่ยวนำไทย เพิ่มนักท่องเที่ยว 2 เท่า ภายใน 4 ปี

ในปี 67 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย จะกลับมาคืนทุนอยู่ที่ 40 ล้านคน โดยจะมีการผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นปีละ 10 ล้านคน หรือให้การท่องเที่ยวเติบโตปีละ 20-25% ดังนั้น ในปี 70 นักท่องเที่ยวก็จะสามารถแตะ 70 ล้านคนได้

ในส่วนของรายได้ จะมาจากการขยายระยะเวลาในการพำนักของนักท่องเที่ยว จากเฉลี่ย 10 วัน เป็น 12 วัน และเพิ่มการใช้จ่ายจาก 5,000 บาท/คน เป็น 6,000 บาท/คน หรือเป็นการใช้จ่าย 72,000 บาท/คน/ทริป รวมแล้วจะสามารถสร้างรายได้ 5 ล้านล้านบาท นับเป็น 35% ของ GDP

สำหรับแนวทางการดำเนินการ คือ หาผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การทำงานพร้อมเที่ยว (Digital Nomad) และการท่องเที่ยวสายมู, หาตลาดท่องเที่ยวใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง และอินเดีย, สนับสนุนการท่องเที่ยวทั่วไทย ไม่เฉพาะเมืองหลัก, สร้างย่านการท่องเที่ยว โครงการ Thailand Riviera ย่านท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย และสร้างมิชลินไกด์ให้อาหารทุกจังหวัด

นายสุวัจน์ กล่าวว่า รัฐบาลกำลังจะครบเทอม พรรคการเมืองทุกพรรคก็เตรียมนโยบาย พรรคชาติพัฒนากล้า ก็เป็นพรรคหนึ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจเป็นปัญหาหลักที่ต้องเข้ามาแก้ไข ทุกพรรคต้องร่วมมือกันในการนำเสนอนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีความหวังว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นทางออกของประเทศ พรรคชาติพัฒนากล้าจึงขออาสาเข้ามาทำงานตรงนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top