สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังสืบสวนหาความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทยา 6 แห่งซึ่งผลิตยาน้ำแก้ไอที่มีการปนเปื้อน จนส่งผลให้เด็กมากกว่า 300 คนใน 3 ประเทศเสียชีวิต
แหล่งข่าวระบุว่า WHO กำลังหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัตถุดิบที่ใช้โดยบริษัทยาทั้ง 6 แห่งในอินเดียและอินโดนีเซีย พร้อมกับตรวจสอบว่าได้วัตถุดิบมาจากซัพพลายเออร์รายเดียวกันหรือไม่
นอกจากนี้ WHO กำลังพิจารณาว่าจะให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองทั่วโลกเพื่อทบทวนเรื่องการใช้ยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็ก ในระหว่างที่ยังมีข้อกังขาเรื่องความปลอดภัยของยาดังกล่าว
ทั้งนี้ พบเด็กเสียชีวิตจากภาวะไตวายเฉียบพลันตั้งแต่เดือนก.ค. 2565 ในประเทศแกมเบีย ตามมาด้วยอินโดนีเซียและอุซเบกิสถาน โดย WHO ระบุว่าการเสียชีวิตดังกล่าวเชื่อมโยงกับยาน้ำแก้ไอสำหรับเด็กที่ปนเปื้อนสารพิษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ไดเอทิลีนไกลคอลหรือเอทิลีนไกลคอล
จนถึงตอนนี้ WHO ระบุชื่อบริษัทยาในอินเดียและอินโดนีเซียที่ผลิตยาน้ำแก้ไอดังกล่าวได้แล้ว 6 ราย อย่างไรก็ดี บริษัทยาเหล่านี้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการสืบสวน หรือบางรายก็ปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ส่วนผสมที่ปนเปื้อนจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 66)
Tags: WHO, ปนเปื้อน, ยาน้ำแก้ไอ, องค์การอนามัยโลก, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อุซเบกิสถาน, แกมเบีย