นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งที่ 1/2566 โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำ ป.ย.ป. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนทุกภาคส่วน เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งและการดำเนินงานของ ป.ย.ป. รวมถึงความสำเร็จของผลการดำเนินงานที่ได้บูรณาการกับทุกภาคส่วนตลอดระยะที่ผ่านมา รวมทั้งแนวทางที่จะดำเนินการขับเคลื่อนระยะต่อไป เพื่อทำให้ประเทศชาติไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไปในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ติดตามการดำเนินงานของสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) ซึ่งมีความก้าวหน้าหลายเรื่อง เช่น การขับเคลื่อนโครงการภายใต้กิจกรรม Big Rock สำนักงาน ป.ย.ป. ได้พัฒนาระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง (https://thailandbigrock.sto.go.th) เพื่อเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่ม ป.ย.ป. กระทรวง ในการทำงานร่วมกัน โดยได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน ด้วยการแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้กับเรื่องที่มีการรายงานเข้ามาในระบบรับเรื่องข้อขัดข้อง จำนวน 38 เรื่อง จากจำนวนทั้งสิ้น 40 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 95 ของจำนวนกิจกรรม/โครงการ และติดตามการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock จำนวน 23 กิจกรรม อาทิ
(1) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สำนักงาน ป.ย.ป. ได้จัดการประชุมเพื่อบูรณาการและขับเคลื่อนการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2565 โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทุกภาคส่วนในสังคม เสนอแนะความคิดเห็นอันนำไปสู่แนวทางการสร้างความสามัคคีปรองดองสู่การปฏิบัติจริง
(2) ประเด็นการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สำนักงาน ป.ย.ป. ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Document ผ่าน e-Service Catalog เพื่อเร่งระบบการทำงานภายในส่วนราชการให้สามารถลดการใช้กระดาษ และพัฒนาไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์
(3) ประเด็นการปฏิรูปด้านกฎหมาย สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค จำนวน 1,094 กระบวนงาน
(4) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการร่วมขับเคลื่อนให้มีทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจให้ครบทุกสถานีทั่วประเทศ
(5) ประเด็นการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินการปรับแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม เพื่อรองรับกับการประกอบธุรกิจโรงแรมให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ปัจจุบัน อาทิ ธุรกิจที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบ่งปัน และธุรกิจการจองที่พักผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นต้น
(6) ประเด็นการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการสนับสนุนการรักษาพื้นที่ป่าโดยร่วมวางแผนปัญหางบประมาณการดำเนินการของศูนย์ข้อมูลและเตือนภัยพิบัติในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาพื้นที่ป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(7) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายผลการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) และข้อมูลผู้ป่วยผ่านแพลตฟอร์ม “Health Link”
(8) ประเด็นการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้มีบทบาทในการประสานการทำงานระหว่างศูนย์ประสานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอมกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวถึงในข่าวปลอม
(9) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการพัฒนาแอปพลิเคชันบัตรประจำตัวคนพิการดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการแก่คนพิการอย่างไม่หยุดนิ่ง
(10) ประเด็นการปฏิรูปด้านพลังงาน สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ประสานและบูรณาการการทำงานระหว่างกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง ขับเคลื่อนประเด็นปัญหาที่เป็นอุปสรรค เช่น การตั้งคำของบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เป็นต้น เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (Energy Service Companies: ESCO) ได้จริง
(11) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมดำเนินการติดตามและขับเคลื่อนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย จำนวน 6 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2563 มาตรา 130 เป็นต้น
(12) ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนการดำเนินการมุ่งในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา และยกระดับระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
(13) ประเด็นการปฏิรูปด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มอัจฉริยะ เพื่อการบริหารจัดการข้อมูลด้านกำลังคน และการพัฒนาสมรรถนะด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem)
รวมทั้งติดการดำเนินการแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อย และความเหลื่อมล้ำ สำนักงาน ป.ย.ป. ได้ดำเนินการประกวดรางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน โดยสามารถกระตุ้นให้เกิดการนำต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการตรวจประเมินให้คะแนน เพื่อคัดกรองรางวัลที่ผ่านการประเมิน คาดว่าจะมีการจัดงานมอบรางวัลเลิศรัฐในเดือนกันยายน 2566 และผลงานที่ได้รับรางวัลจะสามารถนำไปขยายผลให้เป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบและเห็นชอบให้สำนักงาน ป.ย.ป. ดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนโครงการ/กิจกรรมสำคัญในระยะต่อไป เพิ่มเติม 5 เรื่อง ได้แก่ (1) การสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีปรองดอง (2) การปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน (3) หลักสูตร ป.ย.ป. (4) ระบบเสนอแนะข้างทำเนียบ และ (4) การใช้ระบบ e-Document ของหน่วยงานราชการ
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาผู้มีรายได้น้อย และความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความเท่าเทียมของโอกาสในการเข้าถึงบริการของภาครัฐ และอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน รวมทั้งเกิดความเป็นธรรมในการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม รวมไปถึงการดูแลผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีพ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ผ่านมาตรการและโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตลอดจนโครงการอื่น ๆ ผ่านการดำเนินงานของกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 66)
Tags: ป.ย.ป., ปฏิรูปประเทศ, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ยุทธศาสตร์ชาติ, อนุชา บูรพชัยศรี