CONSENSUS: ฟันธงกนง.นัดแรกปี 66 ประเดิมขึ้นดอกเบี้ย 0.25% หนุนศก.ฟื้นไม่สะดุด

กูรูแบงก์ประสานเสียง คาดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเดิมนัดแรกปี 66 ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% บนพื้นฐานความระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ต้องจับตาเศรษฐกิจโลกในปีนี้ที่ยังวางใจไม่ได้ และมีความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการและกรรมการตรวจสอบ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในการประชุม กนง.นัดแรกของปี 66 (25 ม.ค.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% โดยมีมติเป็นเอกฉันท์

และมีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% หากเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง และมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากแรงดึงของอุปสงค์ ตลาดแรงงานตึงตัว ภาวะขาดแคลนแรงงานในบางภาคเศรษฐกิจ จะผลักให้ราคาค่าจ้างปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว แม้ราคาพลังงานจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

สำหรับทิศทางดอกเบี้ยของไทยจะเป็นขาขึ้นไปจนถึงกลางปี 67 และน่าจะแตะระดับสูงสุดในช่วงดังกล่าว ส่วนจะทรงตัวสูงไปนานแค่ไหนขึ้นกับปัจจัยตัวแปรต่างๆ โดยเฉพาะ ช่วงวงจรขาขึ้นของเศรษฐกิจจะนานแค่ไหนก่อนจะเกิดจุดวกกลับมาเป็นขาลง น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอย่างน้อยถึงไตรมาส 3/66 ทั้งนี้ คาดว่าดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 66 จะอยู่ราว 2.75-3.00% เป็นอย่างน้อย

อย่างไรก็ดี มองว่า การดำเนินนโยบายการเงินปี 66 ควรโน้มเอียงไปทางผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากไทยยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในหลายอุตสาหกรรม และ ต้องพยายามลดสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งควรมีมาตรการที่ก่อให้เกิด Exclusive Growth, Green Economy, Innovative Economy สร้างแรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจ ให้เกิดการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้ มองว่าการที่ กนง. จะทยอยขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นแนวทางที่ดีและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจไทย เสถียรภาพระบบการเงิน ระดับการเป็นหนี้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ และหนี้สาธารณะ

ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย (KTB) เชื่อว่า กนง.นัดแรกมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และคงไม่ได้เร่งขึ้นไปมากกว่านี้ เนื่องจากในเดือน ม.ค. จะมีการปรับอัตราการนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับขึ้นไปเท่าเดิม 0.46% หลังจากช่วงโควิดลดลงไปเหลือ 0.23% ซึ่งการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดปรับขึ้นไปด้วย

ปัจจัยที่ กนง.จะกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 66 คือ อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่สูงกว่ากรอบนโยบายการเงินที่ 1-3% แม้ว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและเริ่มเป็นขาลง ดังนั้น มองว่าช่วงครึ่งปีแรก กนง.จะดูจังหวะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้มั่นใจว่าแนวทางการดำเนินนโยบายสอดคล้องกับทิศทางของเงินเฟ้อ

ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง ภาพรวมจากปัจจัยภายนอกมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะแล้วเสร็จในครึ่งปีแรก ครึ่งปีหลังอาจจะไม่ดำเนินการอะไรแล้ว โดยมีบางสำนักในต่างประเทศมองว่า ปลายปี 66 หรือต้นปี 67 จะเป็นช่วงที่เฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย

“เนื่องจากดอกเบี้ยนโยบายไทยตามหลังเฟด คิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยครึ่งหลังอาจจะยังขึ้นได้ หรืออาจเหลือครั้งหนึ่ง ก็อาจจะเป็นไปได้ ปัจจัยมีอยู่ 2-3 อย่าง คือ ปฏิกิริยาของตลาดต่อการปรับขึ้น FIDF เพราะการปรับขึ้น FIDF และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโนบาย ผลสุดท้ายคือทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะมากน้อยนั้น จะเป็นตัวส่งสัญญาณต่อไปว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับต่ออย่างไร และเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าเร็ว-ช้า อย่างไร” นายพชรพจน์ กล่าว

ดังนั้น จึงทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี 66 อยู่ที่ระดับ 2.0% หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก 0.75% จาก ณ สิ้นปี 65 ซึ่งอยู่ที่ 1.25% มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% มีความเหมาะสมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย

พร้อมมองว่า ตั้งแต่ปี 66 ทิศทางดอกเบี้ยของไทยเป็นยุคขาขึ้น นอกเหนือจากดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มปรับขึ้นแล้ว การปรับค่าธรรมเนียม FIDF กลับมาที่เดิมก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดปรับเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ ธปท. ส่งสัญญาณแล้ว เพราะอยากมั่นใจว่าสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ จึงต้องใช้ดอกเบี้ยสู้กับเงินเฟ้อ

ขณะที่ น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปี 66 ของ กนง.จะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีความเหมาะสมกับบริบทของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของไทยเป็นหลัก

ปัจจัยที่ กนง.จะยังให้ความสำคัญกับการปรับดอกเบี้ยนโยบายนั้น ยังอยู่บนพื้นฐานการปรับสมดุลนโยบายที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากภายนอก ขณะเดียวกันเงินเฟ้อของไทยสะท้อนแรงกดดันจากด้านต้นทุนเป็นหลัก จึงให้น้ำหนักไปที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างระมัดระวัง

น.ส.รุ่ง ประเมินว่า ในปี 66 กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จบไตรมาส 1/66 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.75% และจะตรึงยาวไปเนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นช้ากว่าหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อไม่ได้สะท้อนอุปสงค์ที่ขยายตัวอย่างร้อนแรง อีกทั้งมีประเด็นฉุดรั้งจากเศรษฐกิจโลกผ่านแนวโน้มการส่งออก

“การปรับขึ้นดอกเบี้ย คาดว่าจะสิ้นสุดอยู่ที่ไตรมาส 1 ปี 66 คือที่ระดับ 1.75% ยกเว้นว่า การท่องเที่ยวฟื้นตัวแรงมาก จนทำให้ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างมีนัยสำคัญ” น.ส.รุ่ง ระบุ

ด้าน KKP Research วิเคราะห์ว่า ดอกเบี้ยนโยบายไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น “อย่างค่อยเป็นค่อยไป” ในปี 66 และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ปรับดอกเบี้ยขึ้นช้าสุดในโลก และยังไม่ถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามทฤษฎี หรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ในแดนติดลบมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

ด้วยระดับเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในปี 66 ครั้งละ 25bps จนถึงระดับ 2.25% ในไตรมาส 3 โดยไทยจะถือเป็นประเทศท้าย ๆ ที่ยังคงต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นมากกว่าประเทศอื่น ๆ หลังจากทำได้ค่อนข้างช้า ในขณะที่เฟดน่าจะหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสแรกของปีนี้เมื่ออัตรามาอยู่ที่ราว 5%

การปรับขึ้นดอกเบี้ยในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เป็นความท้าทายเชิงนโยบายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้น แต่ด้วยเศรษฐกิจเปิดที่มีดขนาดเล็ก และตลาดการเงินเชื่อมโยงกับโลก การขึ้นดอกเบี้ยจากต่างประเทศจะสร้างแรงกดดันให้ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย นับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เป็นความท้าทายอย่างมากของธนาคารกลางในการจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top