โกลเบล็ก รุกคืบทำ Private Fund-Global Trade กระจายเสี่ยงธุรกิจโบรก-ดันกำไรโตยาว

นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก (GLOBLEX) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า แผนการดำเนินงานของ GLOBLEX ในปีนี้จะเน้นการเติบโตของกำไรเป็นหลัก โดยวางเป้าหมายสูงกว่า 100 ล้านบาท สัดส่วนหลัก ๆ ยังมาจากรายได้ค่าคอมมิชชั่น, ค่าธรรมเนียมการเป็นที่ปรึกษาระดมทุน รวมถึงการออกและเสนอขายหุ้นกู้

แม้บริษัทจะคาดกรณ์ว่าธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ปีนี้จะดีกว่าปีก่อน หลังจากเผชิญกับความผันผวนของตลาดในหลายๆ ด้าน แต่ปีนี้น่าจะมีความ Stable มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสภาพตลาดที่ดีขึ้นจะส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯ ดีขึ้นตามไปด้วย

แต่ก็ยอมรับว่าการที่รัฐบาลจะเริ่มจัดเก็บภาษีขายหุ้นในปีนี้อาจกระทบกับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ โดยเฉพาะกับนักลงทุนเดย์เทรด (Day Trade) ที่อาจเลือกถือครองหุ้นนานขึ้น ไม่ใช่การซื้อๆ ขายๆ วันต่อวัน ซึ่งจะทำให้บริษัทอาจต้องสูญเสียค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ไป เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีจำนวนลูกค้าที่ซื้อขายแบบ Day Trade ราว 30-40% ของจำนวนลูกค้ารายย่อยที่เป็นลูกค้าหลัก

ด้วยปัจจัยนี้ บริษัทจึงมีแผนรุกธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อสร้างรายได้เสริมและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น Wealth Management ที่จะบริหาร Private Fund เน้นลูกค้ากลุ่ม High Net Worth, การออกหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือ Structured Note ซึ่งมุ่งเน้นลงทุนในหุ้นใน SET 50 ปัจจัยพื้นฐานดี อีกทั้งยังเตรียมเปิดให้บริการธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Global Trade) แบบ Fractional shares ด้วย ซึ่งมองธุรกิจดังกล่าวนี้จะเข้ามาเพิ่มความแข็งแกร่ง จากการลดพึ่งพารายได้จากค่าคอมมิชชั่น และสร้างกำไรเติบโตในระยะยาว

“Private Fund จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ามาตอบโจทย์ และเป็นข้อดีในการผูกผลิตภัณฑ์ของเราเอง กระตุ้นผลิตภัณฑ์ภายในของเราเอง ขยายฐานลูกค้าใหม่ อย่าง High Net Worth และดูแลให้เขามีกำไรในระยะยาว ทำให้ลูกค้าสามารถ cross saving ได้มากขึ้น ปัจจุบันเราก็มีฐานลูกค้าของกองทุนรวมตราสารทุนหรือ Equity Fund อยู่แล้วราว 20,000 บัญชี และยังมีฐานลูกค้า Wealth หรือ หุ้นกู้ด้วย” นายธนพิศาล กล่าว

ปัจจุบัน แม้ว่า GLOBLEX มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์สูงกว่า 60-70% และที่เหลือเป็นอื่นๆ แต่ในแง่ของกำไร บริษัทกระจายไปในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์มากขึ้นแล้ว ทำให้ขณะนี้สัดส่วนกำไรที่มาจากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ต่ำกว่า 50% แล้ว

 

“แคปปิตอลวัน” ดัน IPO ในมือเข้าตลาด 3-4 บริษัทรับอานิสงส์ภาพรวมคึกคัก

 

นายธนพิศาล กล่าวว่า ด้านธุรกิจวาณิชธนกิจ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทในเครือ คือ บริษัท แคปปิตอลวัน พาร์ทเนอร์ จำกัด ซึ่ง บมจ.โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ ถือหุ้น 89.99% ปัจจุบันมีงานที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในมือราว 10-20 บริษัท ในปีนี้ตั้งเป้านำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai จำนวน 3-4 บริษัท จากปี 65 นำบริษัทเข้าตลาดฯ ไปราว 4-5 บริษัท และเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย(Co-underwriter) จำนวนรวม 18 บริษัท

นายธนพิศาล มองว่า แนวโน้มการเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ในปี 66 จะมีความคึกคัก จากจำนวนหุ้น IPO ที่รออยู่มีจำนวนมากจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ตลาดฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีคุณภาพที่จะเข้ามาสร้างการเติบโตและสีสันทั้งในแง่ของการดึงดูดเม็ดเงินการลงทุน และการจ่ายปันผล ทำให้มองเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้มีสินค้าให้เลือกหลากหลายขึ้น แต่ต้องเป็นสินค้าที่ดีและมีศักยภาพการเติบโต

“การมี IPO เยอะ ไม่ได้แปลว่ามันจะแย่ หรือจะดี หรือการมาแข่งขันกัน เรามองว่าเป็นทางเลือกของนักลงทุนมากกว่า เนื่องด้วยบางทีการมอง Growth ของบริษัทขนาดใหญ่ๆ มันอาจจะไปได้ไม่ไกลนัก ทำให้ถูกมองเป็นหุ้นปันผล หรือ Dividend play ขณะที่หุ้นใหม่ๆ ขนาดเล็ก มีโอกาสที่จะเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์ mai หรือสตาร์ทอัพ หรือถ้าเป็นการ Disruption มองยังเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า IPO ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในตลาดปีนี้ จะเป็นบริษัทที่มีคุณภาพอย่างแน่นอน ด้วยเกณฑ์การคัดกรองของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่มีมาตรฐาน รวมถึงการคัดกรองเบื้องต้นของ FA ที่จะนำธุรกิจเข้ามาจดทะเบียน และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (Underwriter) ที่จะเข้ามาคัดกรองในเรื่องของราคา IPO ที่เหมาะสมแก่นักลงทุน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top