นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ (TVI) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเบี้ยรับรวมในปี 66 ที่ 8 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ทำได้ 7.3 พันล้านบาท โดยการเดินหน้ากลยุทธ์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ทั้งกลุ่ม Motor และ Non-Motor เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่อย่างลงตัว ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค และภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ดียิ่งขึ้น ภายใต้ยุทธศาสตร์ “องค์กรด้านประกันภัยแห่งนวัตกรรม”
โดยกลุ่มประกันภัยรถยนต์ (Motor) บริษัทเตรียมยกระดับ การบริการ โดยมีการเพิ่มเน้นศักยภาพและลูกเล่นใหม่ๆที่แตกต่างในแบบ “ประกันรถเปิดปิด” ให้สอดรับและเชื่อมต่อทุกจังหวะการใช้ชีวิตอย่างไร้รอยต่อ พร้อมขยายฐานลูกค้าประกันภัยรถยนต์ให้กว้างมากขึ้น ด้วยการพัฒนาประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ด้วยรูปแบบประกันภัยทั้ง แบบ “ประกันรถเปิดปิด” และ “แบบรายปี” ที่ให้ความคุ้มครองเต็มรูปแบบครบทุกกรณี ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้เอาประกัน พร้อมความรับผิดต่อบุคคลภายนอก รวมถึงความสูญเสียจากรถหาย ไฟไหม้ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นได้ทำการพัฒนาโดยใช้นวัตกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันตั้งแต่ยังไม่เริ่มการทำประกัน และทุกขณะของการเป็นผู้เอาประกันของบริษัท
ขณะเดียวกันในส่วนของการประกันภัยรถยนต์ โดยการกระจายไปยังกลุ่มรถยนต์แบรนด์ตลาดมากขึ้น เช่น Toyota และ Honda ซึ่งเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีค่าซ่อมและค่าอะไหล่ไม่แพง หลังจากปีที่ผ่านมาบริษัทหันไปขยายคลาดรถยนต์ในแบรนด์ BMW และ Mazda มาก ซึ่งได้รับผลกระทบในช่วงน้ำท่วมปลายปีก่อน ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาเคลมเป็นจำนวนมาก และพบว่าเป็นแบรนด์ที่ค่าอะไหล่ค่อนข้างสูงมาก ทำให้บริษัทมีผลกระทบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเคลมรถยนต์แบรนด์ดังกล่าวเข้ามากดดันผลการดำเนินงานของบริษัทค่อนข้างมาก ทำให้ปีนี้บริษัทจึงปรับกลยุทธ์กลับมายังแบรนด์รถยนต์แบรนด์เจ้าตลาดมากขึ้นแทน เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายการเคลมที่สูงเข้ามากดกันผลการดำเนินงานในปีนี้
ส่วนการรุกตลาดประกันภัยรถ EV บริษัทยังขยายตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าปัจจุบันความนิยมในการซื้อรถยนต์ EV จะมีมากขึ้นก็ตาม แต่การซ่อมรถยนต์ EV ยังไม่มีประวัติและสถิติในเรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อมที่เพียงพอนำมาประเมินต่อความคุ้มค่าในเรื่องของการกำหนดอัตราค่าประกันภัยรถ EV ทำให้ยังมีความเสี่ยงอยู่ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการเคลม ส่งผลให้บริษัทไม่เร่งรุกการขยายฐานลูกค้ากลุ่มรถยนต์ EV มาก แม้ว่าจะได้เป็น Exclusive Partner กับแบรนด์ Tesla ที่รับประกันภัยรถแบรนด์ Tesla ก็ตาม แต่ไม่ได้รับลูกค้ามาทั้งหมด ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนให้กับบริษัทประกันภัยจากต่างชาติรายหนึ่งไปด้วยเช่นกัน
สำหรับการปรับขึ้นราคาค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในปี 66 นั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณาและติตดามในเรื่องของค่าซ่อมรถว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างไร โดยเฉพาะค่าอะไหล่ที่บริษัทติดตามเป็นพิเศษ เพราะในปีที่ผ่านมาค่าอะไหล่รถราคาปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก และสูงกว่าการปรับขึ้นของค่าแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายในการซ่อมเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 65 บริษัทปรับขึ้นราคาค่าเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไปแล้ว 20% โดยเฉพาะประกันชั้น 1 ซ่อมศูนย์ ซึ่งในปีนี้ยังรอติดตามทิศทางของค่าอะไหล่ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด แต่ในส่วนของค่าแรงมองว่าเริ่มนิ่งแล้ว ซึ่งการปรับขึ้นค่าเบี้ยในปีที่แล้วไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนแบ่งตลาด (Market share) ของบริษัท ที่ยังอยู่ในอันดับ 9-10 ของตลาด เพราะเป็นการปรับขึ้นราคาเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ใกล้เคียงกับตลาด
ด้านกลุ่มประกันภัย Non-Motor บริษัทฯเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยส่วนบุคคล อาทิ ประกันโรคร้ายแรง และประกันสุขภาพ Active Healthในรูปแบบต่างๆ พร้อมขยายไปในตลาดในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองใหญ่ และจังหวัดพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญ เนื่องจากเป็นตลาดที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี จากแนวโน้มปริมาณและราคาผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามตลาดโลก ส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะชูจุดเด่นด้านบริการที่สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย เพิ่มความคุ้มครอง ขยายสิทธิประโยชน์ ครอบคลุมและตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้ชีวิตเฉพาะบุคคลได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายเครือข่ายโรงพยาบาลในทุกภูมิภาคให้ครอบคลุมพื้นที่ให้มากสุด โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนประกัยภัย Motor เป็นส่วนใหญ่ที่ 70% และ Non-Motoe ที่ 30%
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าขยายช่องทางการขาย ทั้งกลุ่ม Motor และ Non-Motor ให้ครอบคลุมมากขึ้น ได้แก่ นายหน้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสถาบันการเงิน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงการประกันภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค ไปพร้อมๆกับการยกระดับภาพรวมอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสผนึกความร่วมมือพันธมิตรใหม่ๆ ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน InsurTech ที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ส่วนพอร์ตลงทุนของบริษัทปัจจุบันมีมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8 พันล้านบาท โดยในปี 66 คาดหวังผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนเป็นบวกราว 3-4% จากปีก่อนที่มีผลตอบแทนติดลบจากการขาดทุนในหน่วยลงทุนกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ทำให้บริษัทมีการตัดขายหน่วยลงทุนของกองรีทที่มีผลขาดทุนหนักออกไป จากราคาที่ปรับตัวลดลงแรงในปีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงผลขาดทุนให้กับพอร์ทไม่มากเกินไป และลดความเสี่ยงที่มากดดันต่อผลการดำเนิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบต่อกำไรในปี 65 ด้วยเช่นกัน
โดยที่การลงทุนในปีนี้บริษัทมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ยังให้ผลตอบแทนที่ดี จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกู้เอกชน ที่เป็น Investment Grade มีอันดับเครดิตเรตติ้งตั้งแต่ A ขึ้นไปที่ออกมาใหม่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และให้ผลตอบแทนของอัตราดอกเบี้ยในระดับที่บริษัทพึงพอใจ และยังคงเงินฝากไว้ค่อนข้างมาก เพราะธนาคารได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามเงินกู้ไปพร้อมกัน ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถือว่ายังอยู่ในระดับที่ยังรับได้
ในส่วนการลงทุนในตลาดทุนหลังจากในปีก่อนบริษัทตัดขาดทุนกลุ่มกองรีทออกไป ในปีนี้บริษัทยังไม่ได้ให้น้ำหนักต่อตลาดทุนมาก แม้ว่าจะเห็นดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่มองว่าระหว่างทางยังมีความผันผวนค่อนข้างมาก ทำให้มีความเสี่ยงสูงในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในปีนี้อยู่ ทำให้การลงทุนในตลาดทุนของบริษัทยังรักษาระดับพอร์ต และรอจังหวะที่เหมาะสมในการเข้าลงทุนเพิ่มเติม หากเริ่มเห็นความแน่ชัดของปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่ค่อนข้างมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
“เราเป็นบริษัทประกันภัย ซึ่งจะลงทุนอะไรที่มีความเสี่ยงสูงๆมากไม่ได้ คปภ.ก็ไม่ให้ แม้ว่าในมุมมองการลงทุนอาจจะเป็นโอกาส แต่ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็คงไม่ดีเราด้วย เพราะปีนี้ความท้าทายปัจจัยต่างๆยังมีรอบด้าน โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ในเรื่องเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ซึ่งก็มาที่ตัวกลยุทธ์ธุรกิจเราด้วย ที่ยังต้องระมัดระวัง เดินเกมอย่าง Conservative บริหารจัดการความเสี่ยงอย่างดีที่สุด”
นายจีรพันธ์ กล่าว
สำหรับสัดส่วนพอร์ตลงทุนของบริษัทในปัจจุบันยังมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้เป็นสัดส่วนที่สูงสุด 60% รองลงมาเป็นเงินฝากธนาคาร 25% และส่วนที่เหลืออีก 15% เป็นหน่วยลงทุนในตลาดทุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 66)
Tags: TVI, จีรพันธ์ อัศวะธนกุล, ประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, หุ้นไทย