นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการบริหาร หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารเศรษฐกิจสาธารณะ สถาบันพระปกเกล้า และ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางการแข็งค่าเงินบาทอย่างรวดเร็ว ว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยคาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าทดสอบ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ในเร็วๆนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกอย่างน้อยสองหรือสามครั้งในปีนี้ คาดว่าในวันที่ 25 มกราคมแบงก์ชาติน่าจะปรับขึ้นอีก 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 1.50% จาก 1.25% และน่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งถึงสองครั้งหลังจากนี้
คาดว่าธนาคารกลางในเอเชียรวมทั้งไทยน่าจะยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นในกลางปีนี้หากสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ตามเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับดังกล่าวบวกกับการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดการเงิน รวมทั้งการเกินดุลการค้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 ย่อมทำให้เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและมีบางช่วงอาจได้เห็นเงินบาทลงไปต่ำกว่า 31 บาทต่อดอลลาร์ได้
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของจีนอาจเติบโตได้ถึง 4.5-4.6% จีนจะกลับมามีบทบาทในฐานะผู้ผลิตและห่วงโซ่อุปทานของโลกอีกครั้งหนึ่ง ส่งผลต่อภาคการผลิต ภาคส่งออกของไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้การเปิดประเทศของจีนทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมากและมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
นักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากได้หันมาท่องเที่ยวในประเทศไทยแทนเนื่องจากมีความสะดวกมากกว่า นโยบายของไทยในการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากจีนมีความเหมาะสม เพราะได้ให้ความสำคัญกับมิติด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน นักท่องเที่ยวเข้าเมืองไทยต้องทำประกันสุขภาพ หากเจ็บป่วยจะได้ไม่เป็นภาระในการดูแล และ หากต้องการรับวัคซีนเพิ่ม ก็สามารถรับได้ โดยทางการไทยเตรียมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้กับนักท่องเที่ยวด้วยความสมัครใจ แต่ในส่วนนี้จะต้องมีการคิดค่าใช้จ่าย ก็จะไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ
อัตราการว่างงานของไทยอยู่ในระดับต่ำสุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูงสุดในช่วงที่ผ่านมา
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การเปิดประเทศของจีนนอกจากจะส่งบวกต่อเศรษฐกิจไทยแล้วยังเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกโดยรวม องค์กรเศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่จะเป็นไอเอ็มเอฟ โออีซีดี ต่างกระตุ้นให้จีนเดินหน้าเปิดประเทศต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าการเปลี่ยนผ่านจากนโยบาย Zero-COVID กลับสู่ภาวะปกติของจีน จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะไม่รุนแรง
แนวโน้มล่าสุดมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากอัตราเงินเฟ้อที่ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สภาวะดังกล่าวเป็นผลบวกต่อตลาดการเงินทั่วโลกรวมทั้งตลาดการเงินของไทยโดยไทยจะได้ผลบวกมากกว่าหลายประเทศเพราะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่มากพอสมควร จีนเปิดเศรษฐกิจเต็มที่จะทำให้ภาคส่งออกที่ติดลบในช่วงนโยบาย Zero-Covid
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนอาจไม่กลับไปเติบโตเฉลี่ยสูงกว่า 8% เช่นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จากจำนวนประชากรในวัยทำงานหดตัว ระดับหนี้สินในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนสูง หนี้เสียในระบบสถาบันการเงินและฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้
อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในปีนี้ คือ ผลกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้นและมาตรการเข้มงวดเพื่อคุมเงินเฟ้อของธนาคารกลางในหลายประเทศ ขณะที่รัฐบาลของชาติต่างๆก็จำเป็นต้องออกมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนเพิ่มภาระทางการคลังอย่างมากโดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะสูงอยู่แล้ว จากข้อมูลของ IMF ระบุ
โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐบาลจะทบทวนมาตรการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งทำให้เกิดปัญหาภาระทางการคลังและปัญหาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มาตรการดังกล่าวไม่ส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การประชุมร่วมกันของ IMF ธนาคารโลกและกลุ่มประเทศ G20 ที่ประเทศอินเดียในเดือนกุมภาพันธ์เกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของหลายประเทศน่าจะมีทางออกและมาตรการบางอย่างที่ช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
จุดวกกลับของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมาเป็นการลดดอกเบี้ยอาจเกิดเร็วขึ้นหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากเกินไป เกิดวิกฤติหนี้สาธารณะปะทุขึ้นและควบคุมเงินเฟ้อได้ผล การเติบโตของจีนจากการเปิดประเทศในปีนี้จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกและจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางจุดวกกลับของนโยบายดอกเบี้ยดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของประเทศ Emerging and Developing Asia ที่สูงกว่าทุกภูมิภาคที่ระดับ 4.9-5.0% จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินสกุลเอเชียและเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ไทยได้รับอานิสงส์การขยายตัวที่ค่อนข้างดีของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วยสัดส่วนธุรกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้น
นายอนุสรณ์ กล่าวถึง ผลประกอบการไตรมาสสี่ ปีพ.ศ. 2565 ของกลุ่มธนาคารและการปรับตัวลดลงของราคาหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ว่า
เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) รายงานกำไรสุทธิ 4/65 ที่ 7.56 พันล้านบาท (ลดลง 1% เทียบไตรมาสก่อนหน้า, เพิ่มขึ้น 20 ช่วงเดียวกันปีก่อน ) แต่ยังต่ำกว่า Bloomberg Consensus ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK)ประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 4/2565 ที่ 3.19 พันล้านบาท ต่ำกว่า Bloomberg Consensus ที่ 9.3 พันล้านบาท สาเหตุหลักเพราะตั้งสำรองสูงกว่าคาด โดยสำรองเท่ากับ 2.3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าคาดการณ์ที่ 1.2 หมื่นล้านมาท การตั้งสำรองเพิ่มจำนวนมากเพื่อรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจถดถอย
ขณะที่ธนาคารกรุงไทย (KTB) มีกำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 33,698 ล้านบาท เติบโต 56.1% ผลจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และยังตั้งสำรองฯลดลงจากปีก่อน 25.2% ส่วน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีการตั้งเงินสำรองจำนวน 33,829 ล้านบาท ลดลง 19.5% จากปีก่อน สะท้อนถึงการบริหารคุณภาพสินเชื่อด้วยมาตรการเชิงรุก มีกำไรสุทธิของปี 2565 จำนวน 37,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวที่แข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ การมีวินัยด้านค่าใช้จ่ายและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง
ขณะที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) รายงานผลกำไรสุทธิปี 2565 จำนวน 30.71 พันล้านบาท เติบโต 20% รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาระการตั้งสำรองลดลงและรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม กลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ หรือ LHFG เผยกำไรสุทธิปี 2565 เติบโต 14.1% อยู่ที่ 1,578 ล้านบาท ปัจจัยหลักรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อและยังตั้งสำรองลดลง
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การยกเลิกการผ่อนคลายมาตรการ LTV (Loan-to-Value Ratio) จะเป็นการช่วยสกัดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ราคาสูงตลาดบนได้ โดยบ้านหลังที่สามราคาเกิน 10 ล้านบาทต้องวางดาวน์สูงถึง 30% ลดความเสี่ยงหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ของภาคธนาคาร ขณะเดียวกันอัตราการปฏิเสธสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อาจเพิ่มขึ้น กระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารและอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับหนึ่ง แต่เป็นการป้องปรามภาวะฟองสบู่แตกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 66)
Tags: ขึ้นดอกเบี้ย, ธปท., อนุสรณ์ ธรรมใจ, เศรษฐกิจไทย