นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 4 จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 20 – 22 ม.ค.66 โดยมีธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน พร้อมผนึกกำลังสถาบันการเงินของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานพันธมิตรรวม 24 แห่ง ร่วมออกบูธให้คำปรึกษาแก้ไขหนี้ เติมเงิน เสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน
รมว.คลัง กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และประกาศให้ปี 65 ที่ผ่านมา เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ผ่านความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ
การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน จะต้องเน้นที่ 3 ส่วน คือ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การยืดระยะเวลาการชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย การปรับลดค่างวด และการรีไฟแนนซ์ เป็นต้น 2.การเสริมสภาพคล่อง เพิ่มเติม ให้กับภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจต่างๆ และ 3.การสร้างวินัยทางการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งถือเป็น 3 องค์ประกอบหลักที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม การจัดงานมหกรรมแก้หนี้ 3 ครั้งที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนไว้ประมาณ 4.5 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้ประมาณ 50% อยู่ระหว่างกระบวนการ (process) แก้หนี้ เช่น การลดดอกเบี้ย การยืดเวลาชำระหนี้
สำหรับเศรษฐกิจในภาพรวมขณะนี้รายได้ของประชาชนเริ่มฟื้นตัว ซึ่งจะเห็นได้จากในภาคแรงงาน ที่ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตและส่งออกสินค้าได้เป็นปกติ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว พบว่าธุรกิจโรงแรมที่พักเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากที่ไทยเปิดประเทศเมื่อกลางปี 65 ซึ่งทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย อยู่ที่ราว 10 ล้านคน และหลังจากที่ในต้นปีนี้ จีนเปิดประเทศ และยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องด้วย
“ช่วงปีที่ 65 ผ่านมา ไทยได้เปิดประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 10 ล้านคน ประกอบกับปีนี้ ที่จีนเปิดประเทศ ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดี แม้จะยังไม่ทั่วถึงนัก โดยจะเห็นได้จากอัตราการเข้าพักของโรงแรม ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 80% ส่วนภาคเกษตร พบว่าสินค้าเกษตรราคาขยับขึ้นทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว” รมว.คลัง ระบุ
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. ในฐานะประธานคณะกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ เปิดเผยว่า “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร ครั้งที่ 4 จ.ชลบุรี ถือเป็นงานที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการอย่างตรงจุดและสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง และเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาภาระหนี้ของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้หรือมีศักยภาพในการชำระหนี้ต่ำลงยังคงมีอยู่
โดยมีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างครบวงจร ทั้งการแก้ไขหนี้ ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ด้วยมาตรการผ่อนปรนให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง สร้างอาชีพเพิ่มรายได้ ด้วยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม บริการทางการเงิน การออม การลงทุน ด้วยผลิตภัณฑ์เงินฝากหรือสลากออมทรัพย์อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และเลือกซื้อบ้านมือสอง หรือทรัพย์ NPA เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 66)
Tags: ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธอส., มหกรรมร่วมใจแก้หนี้, อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจไทย