นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 65 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 583 ราย เพิ่มขึ้น 13 ราย หรือคิดเป็น 2% จากปี 64 มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 128,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46,273 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56%
โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 218 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 365 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทย 5,253 คน ลดลง 197 คน หรือคิดเป็น 4%
สำหรับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 151 ราย (26%) เงินลงทุน 39,515 ล้านบาท, สิงคโปร์ 98 ราย (17%) เงินลงทุน 15,893 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 71 ราย (12%) เงินลงทุน 3,418 ล้านบาท, ฮ่องกง 40 ราย (7%) เงินลงทุน 18,188 ล้านบาท และ จีน 31 ราย (5%) เงินลงทุน 23,306 ล้านบาท ส่วนในปี 64 ต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกัน
ธุรกิจที่อนุญาตในปี 65 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่
– บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา
– บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
– บริการขุดลอก ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
– บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ เป็นต้น
– บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย
– บริการกิจการซอฟต์แวร์ประเภท Enterprise Software และ Digital Content
ขณะที่การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในปี 65 มีต่างชาติให้ความสนใจจำนวน 119 ราย คิดเป็น 20% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุน 52,879 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 47 ราย ลงทุน 24,738 ล้านบาท, จีน 11 ราย ลงทุน 11,444 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 11 ราย ลงทุน 5,005 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน ได้แก่ 1) บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย 2) บริการ พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, การลงทุน, สินิตย์ เลิศไกร