บลจ.แอสเซท พลัส ปั้น AUM ปีกระต่ายโต 22% เปิดกองคาร์บอนเครดิตทางเลือกใหม่

นายคมสัน ผลานุสนธิ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและผลิตภัณฑ์ บลจ. แอสเซท พลัส เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ(AUM) ไว้ที่ประมาณ 88,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22% จากปี 2565 ที่มี AUM มูลค่ารวมกว่า 72,000 ล้านบาท เติบโตกว่า 11%

ในปีนี้ บลจ. แอสเซท พลัส ยังคงมุ่งนำเสนอทางเลือกในการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน(Investment Solutions Excellence) ด้านธุรกิจกองทุนรวมจะมุ่งเน้นไปที่การจัดตั้งกองทุนใหม่ โดยเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นกระแสหรือเป็นที่นิยม รวมทั้งยังตอบโจทย์นักลงทุนได้แม้อยู่ในช่วงที่ตลาดมีสภาวะผันผวน เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุน ผนวกกับการบริหารจัดการกองทุนโดยเฉพาะกองทุนรวม ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดี อยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมนั้น โดยได้จัดตั้งกองทุนสินทรัพย์ทางเลือกใหม่ที่ชื่อว่า กองทุนเปิด แอสเซทพลัส โกลบอลคาร์บอนเครดิต ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ASP-GCC-UI) ซึ่งเป็นกองทุนไทยกองทุนแรกที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์บอนเครดิต

“เรามองว่า นี่คือโอกาสที่ดีในการสร้างผลตอบแทนระยาว และเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้นักลงทุนได้กระจายความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ทั้งยังสามารถขยายฐานลูกค้าและประสานความร่วมมือกับพันธมิตรด้านช่องทางการขายต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (Channel Expansion Excellence) เพื่อให้ครอบคลุมทุกการบริการ ซึ่งจะส่งเสริมให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการลงทุนของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

กองทุนเปิด แอสเซทพลัส โกลบอล คาร์บอนเครดิต ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (ASP-GCC-UI) กองทุนไทย กองทุนแรกที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคาร์บอนเครดิต ผ่านกองทุน KraneShares Global Carbon Strategy ETF Feeder Fund (กองทุนหลัก) โดยที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนหลักเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80 % ของ NAV เนื่องจากมองเห็นโอกาสการเติบโตของคาร์บอนเครดิตทั่วโลก จากการที่นานาประเทศ มีเป้าหมายในการให้ความสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอน ผสานกับ นโยบายภาครัฐและความกระตือรือร้นขององค์กร ที่ส่งผลให้ตลาดคาร์บอนเครดิตมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้น 100 เท่าในปี 2050 (Source: McKinsey as of Jan 2022) จุดนี้จะเป็นโอกาสที่น่าเข้าไปลงทุนเพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต

สำหรับกองทุน ASP-GCC-UI สร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี IHS Markit Global Carbon Index จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีความเข้าใจในการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าฟิวเจอร์สเป็นอย่างดี ทั้งนี้สัดส่วนการลงทุนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน1 กองทุนนี้มีความเสี่ยงในระดับ 8+ กำหนดเสนอขายครั้งแรก (IPO) ตั้งแต่ 25 – 31 ม.ค. 2566 (ทั้งนี้กองทุนอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.)

นอกจากนี้ บลจ. ยังได้เริ่มทำธุรกิจใหม่ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) เพื่อเสริมโอกาสการเติบโตของบริษัทให้แข็งแกร่ง รวมถึงตอบโจทย์ลูกค้าในรูปแบบองค์กร ที่ต้องการทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นอีกด้วย และอีกหนึ่งกลยุทธ์สำหรับปีนี้เราเน้นการดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง(Client Services Excellence) โดยมีการเพิ่มช่องทางด้านออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงลูกค้า เน้นการให้ข้อมูลเป็นวงกว้าง ซึ่งถือว่าเป็นขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง ในปีนี้

หุ้นตลาดเกิดใหม่-จีนเฉิดฉาย

สำหรับมุมมองด้านการลงทุน นายณัฐพล จันทร์สิวานนท์ กรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการลงทุน บลจ. แอสเซท พลัส) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดทั่วโลก เริ่มต้นที่สหรัฐฯ ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะชะลอ นโยบายปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว สำหรับในฝั่งยุโรป เงินเฟ้อของยุโรปอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป(ECB) แม้ว่าค่าเงินยูโรจะกลับมามีเสถียรภาพขึ้นอีกครั้งหลังจากที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Consensus มีมุมมองว่า ECB จะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อกดให้เงินเฟ้อลงสู่เป้าหมายที่ 2% โดยคาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไปจนถึงกลางปี 2566 และไม่มีการลดอัตราดอกเบี้ยลง จนกว่าจะถึงไตรมาส 2 ของปี 2567 (Source: Bloomberg as of 14 Jan 2566)

ในฟากฝั่งของญี่ปุ่น ช่วง 5- 6 เดือนที่ผ่านมาได้เผชิญกับค่าเงินเยนที่แข็งค่า ซึ่งเมื่อเจาะลึกลงไปพบว่าค่าเงินเยนที่แข็งค่านั้นสัมพันธ์กับหุ้นValue ซึ่งมีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ชนะหุ้นเติบโตค่อนข้างชัดเจน มากันต่อที่ภาพการลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ค่าเงินกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง หนุนให้หุ้นมีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้น คาดการณ์ประมาณการ GDP ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ในส่วนของประเทศจีน มีการเปิดเมืองเร็วกว่าที่คาด จากการใช้นโยบาย Zero-COVID ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นจีนในปี 2566 นี้ อีกทั้งจีนยังมีนโยบายสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์และเตรียมผ่อนคลายมาตรการ Three Arrows Policy เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของตลาด พร้อมกันนี้คาดว่ารัฐบาลจะมีการออกนโยบายการคลังและการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแรงหนุนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้คาดว่าจะมาจากภาคการบริโภค เนื่องจากชาวจีนมีเงินออมส่วนเกิน (Excess Saving) ที่ค่อนข้างมาก

และสุดท้ายสำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวและเติบโตได้ดี เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้ว ประมาณการเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นไทยในปี 2565 สูงสุดในรอบ 22 ปี และการกลับมาแข็งค่าของค่าเงินบาทนั้นอาจส่งผลให้ ธปท.ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ยังได้รับผลเชิงบวก ด้านการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นจากการที่หลายประเทศผ่อนคลายมาตรการการเดินทาง ทั้งหมดนี้

“ผมมองว่า กลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 นี้ แนะนำพอร์ตการลงทุน ด้วยการลงทุนในประเทศจีน ทั้งกองทุนหุ้นและตราสารหนี้ หรือจะกระจายการลงทุนมาในไทย เวียดนาม และตลาดประเทศเกิดใหม่อย่างอินเดีย รวมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ก็จะเน้นลงทุนในหุ้นสไตล์ Value โดยทั้งหมดนี้ สามารถปรับสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้กับลูกค้าได้ นายณัฐพล กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 66)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top